วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

สุภาพสตรีกับบทบาทของผู้นำสูงสุด




ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือธุรกิจเราจะเห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหมายเลข 1 กันมากขึ้นทุกขณะ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปีใหม่นี้ ก็ได้สุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งก้าวขึ้นไปเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ คือ Virginia Rometty นับเป็นซีอีโอหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของยักษ์สีฟ้า IBM 
       
นอกจาก Rometty แล้ว เรายังมีซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่อีกจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Irene Rosenfeld ซีอีโอของ Kraft Fodds หรือ Indra Nooyi ซีอีโอของ PepsiCo. หรือ Ellen Kullman ซีอีโอของ DuPont หรือ Andrea Jung ซีอีโอของ Avon หรือ Ursula Burns ซีอีโอจาก Xerox หรือ Meg Whitman ซีอีโอของ Hewlett-Packard เป็นต้น
       
โดยส่วนตัวตั้งแต่ทำงานมาไม่ว่าจะเป็นในภาคเอกชน หรือภาคการศึกษาก็ล้วนแล้วแต่ผ่านภาวะของการมีเจ้านายระดับสูงถึงสูงสุดเป็นสุภาพสตรีมาแล้ว ทำให้พบว่าสุภาพสตรีที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงได้นั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีนอกเหนือจากความเก่งหรือความสามารถที่เหนือกว่าผู้อื่นแล้ว สิ่งสำคัญก็คือจะต้องมีความมั่นใจสูงด้วย เนื่องจากในสังคมการทำงานที่เราคุ้นเคยกันมาแต่โบราณนั้น เรายังติดภาพของการที่ผู้ชายทำงานและผู้หญิงดูแลบ้าน แต่พอสังคมเปลี่ยนไป ผุู้หญิงมาทำงานมากขึ้น การที่ผู้หญิงจะก้าวล้ำผู้ชายขึ้นไปเป็นผู้นำระดับสูงได้นั้น ความมั่นใจในตนเองถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
       
ได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งใน HBR Blog เขียนโดย Leslie Pratch ไว้ในหัวข้อว่า Why Women Leaders Need Self-Confidence ซึ่งพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่าผู้นำที่เป็นสุภาพสตรีนั้นจะต้องเผชิญความท้าทายและความยากลำบากในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำมากกว่าผู้นำที่เป็นผู้ชาย นอกจากนั้นที่สำคัญคือมีการพบความสัมพันธ์ในทางสถิติระหว่างความมั่นใจของผู้นำกับความสำเร็จในการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่เป็นสุภาพสตรีนั้น จะมีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสองประการมากกว่าผู้นำที่เป็นผู้ชาย
       
ในอีกนัยหนึ่งยิ่งผู้นำหญิงมีความมั่นใจมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไม่ถือว่าน่าแปลกใจนะครับ เพราะสุภาพสตรีที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ด้วยความสามารถของตนเองนั้น นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถแล้ว ความมั่นใจในตนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
       
อย่างไรก็ดี งานวิจัยอีกชี้นหนึ่งที่พบว่าผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงขององค์กร และต้องการที่จะสร้างความสมดุลกับชีวิตครอบครัวในลักษณะของ Super Mom นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และถ้าผู้บริหารเหล่านี้พยายามทำตัวเป็น Super Mom (เน้นทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการดูแลครอบครัว) ก็จะยิ่งทำให้สุภาพสตรีดังกล่าวมีอาการเครียด หดหู่ หรือที่เรียกว่า Depressed มากขึ้น
       
ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดู ว่าสุภาพสตรีที่หวังจะเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน จะต้องทำงานหนักและพิสูจน์ตนเองให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องแบ่งเวลามาดูแลครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีลูกในวัยเด็กหรือเริ่มเรียน ที่จะต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างสถานที่ทำงานกับโรงเรียนของลูก ซึ่งในอดีตนั้นอาจจะสามารถทำได้ แต่จากความกดดันต่างๆ ในสถานที่ทำงานในปัจจุบัน ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการดูแลครอบครัวนั้นตกอยู่ในความเครียดมากกว่าผู้หญิงอื่น
       
สรุปก็คือในปัจจุบันเราจะมีผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของบริษัทชั้นนำต่างๆ มากขึ้น โดยความสำเร็จของผู้หญิงกับการเป็นผู้นำนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจของสุภาพสตรีท่านนั้นเอง อย่างไรก็ดีข้อควรระวังก็คือผู้หญิงที่ต้องการความก้าวหน้าในที่ทำงานกับการดูแลครอบครัวนั้นจะตกอยู่ในภาวะที่ชวนเครียดมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน

ขอบคุณ : Manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ