วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์ เหตุไฉน ผู้นำทางธุรกิจการเมืองระดับโลก ดอดพบปะเจรจา ออง ซาน ซูจี




ผู้นำและบุคคลสำคัญจากหลายประเทศเดินทางเยือนพม่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งเพื่อพบปะเจรจากับบรรดาผู้นำในรัฐบาลพม่าและผู้นำประชาธิปไตยนางออง ซาน ซูจี หลายฝ่ายเชื่อว่านั่นเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า แต่นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่าการเมืองพม่ายังคงเปราะบาง

ในวันจันทร์ที่ 2 มกราคมตามเวลาในพม่า ผู้นำฝ่ายค้านพม่านางออง ซาน ซูจี เปิดบ้านริมทะเลสาบต้อนรับเศรษฐีนักธุรกิจชั้นนำชาวอเมริกัน นายจอร์จ โซโรสซึ่งนับเป็นบุคคลสำคัญรายล่าสุดที่เดินทางเข้าเยี่ยมเยือนนางซูจีนับตั้งแต่เธอได้รับอิสระจากการกักบริเวณเมื่อปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์คาร์ล เทเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์แห่งสถาบันป้องกันประเทศออสเตรเลีย   เปิดเผยว่า  ขณะนี้มีนักธุรกิจสำคัญและผู้นำทางการเมืองเข้าแถวรอพบนางออง ซาน ซูจี เพื่อขอมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพม่า พร้อมชี้ว่าแม้นางออง ซาน ซูจีจะเฉลียวฉลาดแต่ก็ค่อนข้างโดดเดี่ยวแปลกแยก เธอจึงต้องการคำปรึกษาด้านการเงินจากบุคคลอย่างจอร์จ โซโรสและคนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตย

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีผู้นำทางการเมืองจากหลายประเทศเดินทางเยี่ยมเยือนพม่าและพบปะกับนางซูจี ได้แก่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐนางฮิลลารี่ คลินตัน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียและญี่ปุ่น

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางเยือนพม่าถือเป็นการเปิดประตูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศขึ้นมาใหม่ และถือเป็นไฟเขียวที่อนุญาตให้ประเทศอื่นเริ่มยุติมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและเริ่มให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่พม่าด้วย


อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ฐิตินันท์เชื่อว่าประเทศต่างๆควรระวังไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้ากับพม่ามากเกินไปและรีบร้อนเกินไปในตอนนี้ เพราะเชื่อแน่ว่ามีหลายกลุ่มที่กำลังจ้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่าตาเป็นมัน เนื่องจากพม่านั้นมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญมากมาย ทั้งก๊าซธรรมชาติ อัญมณีและป่าไม้


นับตั้งแต่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ได้เกิดความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยหลายอย่างในพม่า รวมถึงการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีเต็ง เส่งกับนางออง ซาน ซูจี ซึ่งรศ.ดร.ฐิตินันท์เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อแนวโน้มการปฏิรูปการเมืองพม่าในระยะยาว รศ.ดร.ฐิตินันท์ชี้ว่าขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ก้าวลงลึกด้านการปฏิรูปการเมืองเกินกว่าจะหยุดยั้งหรือหันหลังกลับ ประกอบกับการที่พม่าจะได้ขึ้นเป็นประธานสมาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าทำให้เชื่อได้ว่ากระบวนการปฏิรูปการเมืองของพม่าจะดำเนินต่อไปในระยะยาว


ถึงกระนั้นก็ดี อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งต่อความก้าวหน้าทางการเมืองในพม่าคือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกักขังนักโทษการเมืองที่คาดว่ามีจำนวนมากกว่า 1,600 คน ล่าสุดมีรายงานว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามในคำสั่งอภัยโทษนักโทษบางส่วนเนื่องในวันครบรอบ 64 ปีที่พม่าประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีนักโทษจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งอภัยโทษดังกล่าว

ขอบคุณที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 3 มกราคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ