วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ผู้นำแห่งความสำเร็จ

องค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถทสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนได้รับคำชื่นชมว่ามีความสำเร็จได้ทั้งนั้น ขอเพียงมีองค์ประกอบในการทำงานดี ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกล

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ผู้นำต้องดี ถ้ามีผู้นำดี ลูกน้องก็ไม่หลงทาง องค์กรก็ไม่เป๋ จะคิดอะไร จะทำอะไร ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ นี่คือ 10 องค์ประกอบของผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพ ที่ทุกองค์กรต้องมองหา




1. ตัดสินใจเด็ดขาด
ผู้นำที่รู้จักตัดสินใจอย่างเด็ดขาด มักมีคุณสมบัติพิเศษควบคู่กันอยู่อีกประการหนึ่งเสมอคือ มักถูกต้องและมีเหตุมีผล เขามักจะเป็นคนที่พูดจาคำไหนคำนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุดของลูกน้อง บางครั้งการตัดสินใจดูเหมือนจะใช้ความคิดของตนเป็นใหญ่ ไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ เพราะเขากำลังอยู่ใน บทบาทซึ่งเป็นผู้นำ และเขาจะติดตาม รับผิดชอบไปจนเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการ ถ้าผู้นำมีความมุ่งมั่น ตัดสินใจเร็ว ไม่โลเล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ ลูกน้องก็จะเกิดความมั่นใจ เชื่อถือ และสามารถทำงานได้โดยไม่สะดุดบ่อยๆ ผิดกับเจ้านายที่โลเลต่อการตัดสินใจ ลูกน้องก็มักจะมีบุคลิกภาพแบบนักรีรอ ไม่พร้อมจะทำ ไม่พร้อมจะลุย ไม่พร้อมจะตัดสินใจ และไม่พร้อมจะรับผิดชอบด้วยเช่นกัน


2. มีเป้าหมายชัดเจน
นอกจากจะเฉียบขาดแล้ว ผู้นำที่มีจุดยืน มีอุดมการณ์ หรือมีจุดหมายที่ชัดเจน ก็เป็นที่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง จุดหมายที่องค์กรมีร่วมกันโดยมีนายเป็นผู้ถือธงนำนั้น ก็เหมือนกับทั้งทีมได้เห็นเส้นชัยหรือหลักชัยที่ต้องเดินไปให้ถึง ถ้ามีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว เราก็สามารถมุ่งหน้าไปยังจุดๆ นั้นได้ง่าย และเร็วขึ้น เพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คนที่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่นั้น ย่อมดีกว่าเดินไปคิดลังเลไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา


3. รู้จักใช้คน 
Put he right man in the right job. ยังใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ และทุกที่ ผู้นำที่ดีต้องรู้จักลูกน้องของตนว่าใครเหมาะที่จะทำอะไร งานไหนควรให้ใครรับผิดชอบ คนไหนเก่งอะไร มีข้อบกพร่องด้านใดอยู่บ้าง ก็พยายามแก้ไขให้เขาสมบูรณ์แบบขึ้น ใครขาดใครเกินส่วนไหน ก็ปรับแต่งให้ลงตัว อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บริหารคนเป็น การรู้จักนิสัยใจคอ ความชอบส่วนตัวของลูกน้อง นอกจากจะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว ยังเป็นข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำเอาใส่ใจต่อลูกน้องของเขาเป็นอย่างดี




4. ซื่อสัตย์
นอกจากจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแล้ว ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วย เขาควรจะบริหารค่าใช้จ่ายภายในอย่างเป็นธรรมถูกต้อง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ การมีเจ้านายเป็นคนเก่ง และเป็นคนดีที่ไว้ใจได้ อาจพูดได้ว่าเป็นโชคทบของลูกน้องที่ได้ร่วมงานด้วยเลยทีเดียว และคุณสมบัติเช่นนี้ก็จะเป็นแบบอย่างให้ลูกน้องตระหนักถึงคุณลักษณะที่ดีของเขา เขาควรจะยิ่งต้องยึดถือความสัตย์ซื่อเป็นสรณะตามไปด้วย


5. สนับสนุนลูกน้อง
ผู้นำที่ดีต้องให้โอกาสลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานที่พิสูจน์ความสามารถของเขาด้วย งานใดจะส่งเสริมให้ความสามารถของลูกน้องโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่แย่งผลงานและโอกาสในการสร้างผลงานของลูกน้องมาเป็นผลงานของตัวเองหมดเสียทุกครั้งไป ให้โอกาสเขาได้เจริญเติบโต พร้อมทั้งผลักดัน สนับสนุน ให้สร้างเสริมความสามารถให้ยอดเยี่ยมขึ้นเรื่อยๆ ผู้นำที่ดีต้องสร้าง ลูกน้องให้เก่งขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าเขาจะเลื่อนขั้นขึ้นมาทำงานแทนได้ในภายภาคหน้า


6. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
ผู้นำที่ดีต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี ทั้งในและนอกองค์กร บางครั้งนอกองค์กรนายอาจจะเป็นคนนิสัยดีเยี่ยม อัธยาศัยดี น่าคบหา แต่กับคนใกล้ตัวอย่างลูกน้องในองค์กร นายอาจจะเปลี่ยนนิสัยไปอยู่ขั้วตรงข้าม อย่างนั้นก็นับเป็นผู้นำที่ใช้ไม่ได้ นายที่ดีต้องไม่ลืมข้อนี้ แค่ทักทาย ถามไถ่ทุกข์สุขลูกน้อง ขอบคุณเมื่อเขาทำงานให้ ให้รางวัลหรือคำชมเชย เมื่อเขาทำในสิ่งซึ่งน่าชมเชย เหล่านี้เป็นต้น นายที่ดีต้องรู้จักยืดหยุ่น มีอารมณ์ขัน อาจมีการพบปะสังสรรค์กันนอกเวลางานบ้าง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และจะส่ง ผลให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น


7. รู้จักรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง
ผู้นำที่เอาแต่พูดๆๆๆ อยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังความคิดเห็นหรือคำอธิบายของลูกน้องเลย นับเป็นเจ้านายที่ปิดกั้นตัวเองอย่างยิ่ง แน่นอนว่าเจ้านายมักมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า มีความรู้มากกว่าลูกน้อง แต่การไม่ยอมรับฟังอะไรจากใครเลย ก็ไม่เป็นผลดี เพราะบางทีลูกน้องอาจมีข้อเสนอดีๆ ที่นายมองข้ามไป หรืออาจมีคำ อธิบายที่ฟังขึ้นในความผิดพลาดของงานที่นายมองไม่เห็น การฟังลูกน้องพูดหรืออธิบายบ้าง จะช่วยให้ลูกน้องทำงานอย่างสบายใจ ไม่รู้สึกกดดันมากนัก เมื่อมีปัญหาเขาจะกล้ามาถามหรือเสนอแนะในข้อที่เขาเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดี แค่รู้จักฟังลูกน้องให้มากขึ้นเพียงนิดหน่อย ก็จะกลายเป็นผู้นำหรือเจ้านายที่น่ารักขึ้นอีกโขเชียวค่ะ




8. บุคลิกภาพต้องดีเยี่ยม
เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ผู้นำหรือเจ้านายควรเป็นผู้มีบุคลิกดี แต่งกายเหมาะสมกับรูปร่าง หรือ ฐานะทางสังคม ต้องดูสะอาดสะอ้าน ดูสุภาพ เข้างานสังคมได้อย่างไม่ขัดหูขัดตา และมีบุคลิกดึงดูดใจ น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ถ้าคุณเป็นผู้นำหรือนายที่ความสามารถเป็นเลิศอยู่แล้ว แต่บุคลิกภาพกลับดูแย่ อย่างนี้ก็ถือว่าก็ยังมีข้อบกพร่องให้ลูกน้องรู้สึกไม่ดีได้ จึงโปรดอย่าตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ เรื่องนี้


9. มีศิลปะในการเจรจา
ขอเพียงพูดด้วยความนุ่มนวล พูดอย่างรู้จักไตร่ตรอง รู้จักสถานการณ์ รู้คิด รู้กาลเทศะ และรู้จักคนที่เรากำลังเจรจาด้วย ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกล ในการพูดนั้นต้องคิดก่อน มีการเตรียมการมาก่อน ความคิดต้องไม่สับสน พูดอย่างสั้น กระชับ ตรงประเด็น จริงใจ เป็นธรรมชาติ ใช้เสียงที่ดังพอประมาณ คือให้คู่สนทนาได้ยินชัดเจน หากมีผู้ร่วมสนทนาหลายคน ทุกคนต้องได้ยินเสียงพูดอย่างทั่วถึงกัน พูดจาต้องมีหางเสียง มีจังหวะจะโคนที่ราบรื่น มีเสียงหนักเบาเพื่อเน้นความสำคัญของสิ่งที่พูด และไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ สายตาควรจับจ้องไปยังผู้ฟังถ้วนทั่ว และเมื่อพูดจบ จงแสดงท่าทีว่าคุณพร้อมแล้วที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ปิดกั้น ไม่คิดว่าสิ่งที่คุณพูดไปนั้นดีที่สุด ถูกต้องที่สุดกว่าคนอื่นๆ แต่มันมีความถูกต้องรอบคอบอย่างที่สุดแล้ว จากความคิดของคุณ คนอื่นๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกมา เพื่อได้รับแรงสนับสนุน หรือหากถูกค้าน ก็เป็นโอกาสที่เราจะอธิบายเพิ่มเติมได้


10. มีความเป็นผู้นำ
ความเป็นผู้นำนี้แหละ สำคัญสูงสุด และลอยตัวอยู่เหนือเพศสภาพ คนเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นเพศใด แต่เขามีความคิดที่เฉียบคม ที่การลงมือที่เฉียบขาด และมีการประสานงานที่เฉียบแหลม เขามักอยู่ข้างหน้าผู้อื่นเสมอ ทั้งการคิด การแสดงความคิดเห็น การลงมือทำ และความรับผิดชอบ เขาต้องพร้อมจะผิดก่อนคนอื่น และอธิบายถึงความผิดพลาดนั้นอย่างกล้าหาญ ถูกต้อง และแสดงภูมิรู้ว่าเขาเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ พร้อมกันนี้เขาก็พร้อมจะนำพาทุกคนให้ก้าวพ้นความผิดพลาดนั้นๆ ปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง เข้าใจองค์กรและเห็นใจผู้ร่วมงาน ประสานประโยชน์ขององค์กรและผู้ร่วมงานได้ดี ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากผู้ร่วมงานในทุกระดับ




องค์กรใดที่มีผู้นำมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน ความก้าวหน้าก็รออยู่ข้างหน้าที่ไม่ไกลนัก ไม่เชื่อก็ลองดูค่ะ


ขอบคุณ :  อาจารย์ประณม ถาวรเวช

19 ประการสำหรับภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ





1. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนายของท่าน สัมพันธภาพที่ดีมีผลโดยตรงกับความสามารถของท่านที่จะสร้างความพอใจ และผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำ ที่มีความสามารถได้รับอำนาจจากนายของเขา

2. ทำตัวอย่างที่ดี ในสิ่งที่ท่านอยากให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติ เช่น มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ ริเริ่ม กระตือรือร้น ท่านต้องให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ ท่านต้องเป็นแบบอย่าง การเป็นแบบอย่างเป็นยุทธวิธีที่ดีมากสำหรับ ผู้นำ ที่มีความสามารถ

3. บอกความคาดหวังท่านชัดเจน ท่านคาดหวังอย่างไรกับผู้ร่วมงานที่เขาจะทำให้เกิดความพึงพอใจกับท่าน อย่าคิดเอาเองว่าเขาจะทราบไม่ต้องกลัวที่จะบอกเขาว่าท่านต้องการอะไร บอกเขาก่อนที่เขาจะทำงาน และเตือนเขาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้

4. นัดประชุมเพื่อสร้างทีมให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มมุ่งเน้นที่เป้าหมาย

5. ให้รางวัลผู้ให้ความร่วมมือและทำงานหนัก ถ้าให้รางวัลเขาแล้ว เขาจะทำงานดีขึ้น

6. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้น 

7. ให้คำชมบางคนที่ให้ความร่วมมือกับทีมดูวัตถุประสงค์ ความจริงใจ และความถี่ ท่านแน่ใจว่าเขาทำตามความคาดหวังของท่าน และสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

8. รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท่านจะได้รับความนับถือและไดรับความจริงใจมากขึ้น ท่านจะได้ทราบความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น



9. เลือกบุคคลที่สามารถทำงานกันเป็นทีม ไม่มีการฝึกอบรมชนิดใดที่จะเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่แปลกแยกจากทีมของท่านได้มากนัก ให้พิถีพิถันในการเลือกคน อย่าต้องมาจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งผิด ๆ ทิ้งไว้ให้คู่แข่งของท่านจะสวยกว่า

10. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทัศนภาพ สร้างแรงจูงใจ และเหตุผลต่าง ๆ ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้เขาช่วยตัดสินใจในวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้บรรลุผลตามความต้องการต่าง ๆ เหล่านั้น

11. ยอมรับความผิดพลาด การยอมรับความผิดพลาดแสดงถึงความเข้มแข็งมากกว่าการแสดงความอ่อนแอ

12. อย่าให้คำมั่นสัญญาอะไรง่าย ๆ มีสองสิ่งที่จะเกิดขึ้น เวลาให้สัญญาไม่เป็นสิ่งที่ดีนัก นั่นก็คือ มีความคาดหวังให้เป็นไปตามสัญญา และถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา มิตรภาพก็จะสลายไป

13. บริหารเวลาให้ดี ควรมีเวลาให้เพื่อนร่วมงานของท่านบ้าง

14. มอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร สิ่งนี้เป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า "ข้าพเจ้าจะจู.ใจลูกน้องได้อย่างไร"

15. ท่านต้องยอมรับค่าของคนตามความแตกต่างของบุคลากร ท่านก็คงทราบว่าสิ่งใดที่จะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น คนอื่น ก็เช่นเดียวกับท่าน ทุกคนต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ถ้าท่านยกย่องเขา เขาก็ยกย่องท่าน

16. แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างซื่อตรง และยุติธรรม ให้ตระหนักถึงสไตล์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของท่าน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

17. ให้ข้อมูลในการทำงานก่อนที่เขาจะทำงาน เพื่อนร่วมงานต้องการข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน เมื่อท่านมอบหมายงานท่านต้องให้ข้อมูลเขา



18. ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจากแรงกดดันของแต่ละวันบ้าง ท่านต้องมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจะวางแผนอย่างไร มิฉะนั้นท่านก็จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จยากมากต้องปล่อยวางบ้าง

19. อย่าเป็นคนที่เคร่งเครียดจนเกินไป ร่าเริงและเป็นกันเองกับลูกน้องบ้าง

ขอบคุณ : http://www.novabizz.com

ประเภทของผู้นำ (David Rook และ William Torbert )


David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท โดยมุ่งเน้นเรื่อง คุณลักษณะและแนวทางใน การแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาจุดเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีประเด็นสำคัญ ดังนี้...

  1. ผู้นำประเภทนักฉวยโอกาส (Opportunist)
    ผู้นำประเภทนี้มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด มีลักษณะเด่นคือ ยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จิตใจคับแคบ ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย บ้าอำนาจ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การยอมรับ และผลประโยชน์ มองเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้จะมองว่าโลกมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย การเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ถูกต้องเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมจะโต้ตอบกลับให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่ง ผู้นำประเภทนี้มักจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพราะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ยากที่จะเจริญก้าวหน้า และหาความสุขไม่ได้ในชีวิต แนวทางการแก้ไขคือ พยายามมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และจริงใจกับคนอื่นบ้าง ถึงแม้ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราอาจจะเจอแต่คนเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่จำเป็นว่า ปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ถ้าอยากมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับ ก็ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับผู้อื่นบ้าง อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราเช่นไรเราก็ต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน
  2. ผู้นำประเภทนักการทูต (Diplomat)
    มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด ผู้นำประเภทนี้มักเป็นที่รักของลูกน้องและเจ้านาย เพราะกลุ่มนี้จะชอบสร้างภาพให้ตัวเองเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา เช่น พูดจาไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ดูผิวเผินอาจจะเป็นสิ่งดี แต่ในความเป็นจริง การไม่ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใครเลย จะทำให้องค์กรไม่มีการพัฒนา หรือการเก็บงำข้อบกพร่องและความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ยอมบอกให้หัวหน้ารู้ เพราะกลัวว่าภาพพจน์ตนเอง จะเสียและจะถูกมองว่าเป็นคนช่างฟ้อง จะทำให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ มักจะเกิดปัญหาและไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก บุคคลประเภทนี้เหมาะที่จะเป็นฝ่ายต้อนรับและให้บริการมากกว่าการบริหาร เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น กอปรกับมองว่าปัญหาและข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่าอับอายและยุ่งยากจึงชอบหนีปัญหา เป็นต้น แนวทางการแก้ไขคือ มองปัญหาและความขัดแย้งในแง่ดีและเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ย่อมไม่มีการพัฒนา ดังนั้น การติเตียนและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสิ่งดีทำให้องค์กร มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป
  3. ผู้นำประเภทชำนาญการ (Expert)
    มีประมาณร้อยละ 38 ผู้นำประเภทนี้จะใช้ความรู้ที่ลุ่มลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบทำให้ผู้อื่นยอมศิโรราบ บุคคลเหล่านี้ จะชอบใฝ่หาข้อมูล ใส่ตัวให้มากที่สุดเพื่อแสดงว่ าตนนั้นอยู่เหนือผู้อื่นและมักคิดว่า ตนเองเก่งที่สุดและไม่มีวันที่คนอื่นจะรู้เท่าทัน ทำให้บ่อยครั้งเกิดการทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ ผู้แต่งได้ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์ทางการตลาด นักวิจัยการลงทุน วิศวกรเกี่ยวกับโปรแกรมข้อมูล และที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีข้อดีคือ มีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบและตั้งใจทำงานเพราะต้องการผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ งานส่วนใหญ่มักจะต้องทำคนเดียว และหน้าที่การงานก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะชอบโอ้อวดและดูถูกคนอื่นที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูกดูแคลนผู้อื่นเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว และให้ตระหนักว่าเหนือฟ้าย่อมมีฟ้าอย่ามั่นใจในตัวเองมากนัก
  4. ผู้นำประเภทจัดการ (Achiever)
    มีประมาณร้อยละ 30 บุคคลประเภทนี้สามารถทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามระยะเวลาที่กำหนด รับฟังความคิดเห็น ของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้จักการประนีประนอม และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ภาพรวมของบุคคลประเภทนี้ เหมือนจะดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวการสูญเสียอำนาจ และมักจะมีปัญหา กับลูกน้องที่อยู่ในประเภท "ผู้ชำนาญการ (Expert)" เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นตัวสร้างปัญหาแต่ก็มิได้สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าที่จะเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
  5. ผู้นำประเภท "ข้าแน่คนเดียว" (Individualist) 
    มีประมาณร้อยละ 10 บุคคลประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม "ผู้ชำนาญการ (Expert)" คือชอบทำงานคนเดียว แต่คนกลุ่มนี้จะรู้จักมองโลกสองด้านเช่น การรู้จักแยกแยะข้อมูลทางทฤษฎีกับการนำไปปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือเป้าหมายของบริษัทนอกจากจะได้กำไรแล้วผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่สักแต่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะรู้จักวิเคราะห์และไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ กล้าที่จะคิดและเสนอสิ่งที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถ และต้องการผลักดันให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่จุดอ่อนของคนประเภทนี้คือ ไม่รู้จักการยืดหยุ่น หรือประนีประนอม และพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนทุกระดับ ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะขาดคนสนับสนุน หรือกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักเพื่อสู้กับแรงต้านที่มาทั่วทุกสารทิศ แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่ามั่นใจตัวเองมากนัก เปิดใจยอมรับความคิดของผู้อื่นบ้าง รู้จักทำงานเป็นทีม และในฐานะหัวหน้าหากมีลูกน้องประเภทนี้ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่ขาดการเจียรนัย จึงควรให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักการวางตัวและแสดงออกอย่างเหมาะสม
  6. ผู้นำประเภทนักยุทธศาสตร์ (Strategist)
    มีประมาณร้อยละ 4 บุคคลประเภทนี้จะมีความรู้ ความสามารถมาก มองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้ หรือยังขาดทรัพยากรใดบ้าง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล สามารถสร้างความรักและศรัทธา จากลูกน้องและผู้ร่วมงานได้ ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก รับความขัดแย้งได้ทุกรูปแบบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า และมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว
  7. ผู้นำประเภทนักสร้างสรรค์พัฒนา (Alchemist)
    มีประมาณร้อยละ1 บุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับ"กลุ่มนักยุทธศาสตร์ (Strategist)" แต่แตกต่างกันตรงที่นักยุทธศาสตร์นั้นจะมองภาพรวมทั้งหมดและจัดการทุกอย่างได้อย่างไม่มีที่ติ แต่นักสร้างสรรค์พัฒนานั้นนอกจากจะบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยัง สามารถริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหนือ ความคาดหมายได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุณลักษณะอื่น ๆ ของผู้นำประเภทนี้คือ สามารถรับได้ทุกสถานการณ์ ไม่มีความขัดแย้งเพราะมองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา พูดจานุ่มนวล ถูกต้องตามกาละเทศะ มีบุญญาบารมี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม 
                                          
จากบทความดังกล่าว ๆ นี้ หลาย ๆ ท่านที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ก็สามารถประเมินผู้นำองค์กรของท่านเองได้นะคะ ว่าจัดอยู่ในผู้นำประเภทใด แต่จริง ๆ แล้ว การจัดประเภทของผู้นำนั้น ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ได้แบ่งประเภทของผู้นำไว้อีกมากมาย และดิฉันจะรวบรวมเอามาฝากในครั้งถัดไปนะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

"กระซิบ" ทีเดียว สะเยียวทั้งโลก (Facebook vs WikiLeaks)

"สวัสดีคะ ไม่ได้เจอกันประมาณ 4 อาทิตย์ งานยุ่งนิดหน่อยคะ และพอดีกับช่วงเทศกาลปีใหม่หยุดกันไปหลายวัน สำหรับปีกระต่ายทองนี้  2554 ก็อวยพรให้เพื่อน ๆ ทุกคนมีความสุข สดชื่น และสมหวัง ตลอดปีนะคะ แรก ๆ ก็ยังเป็นห่วงบล็อกตัวเองเหมือนกันว่าห่างการอัพเดทไปนานอย่างนี้จะลืมกันหรือเปล่า! แต่รับรองคะว่าจากนี้จะนำเรื่องดี ๆ มาฝากกันให้บ่อยมากขึ้นแน่นอน

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้อ่านบทความดี ๆ และน่าใจมาก ๆ เรื่องหนึ่งในหนังสือพิมพ์มติชน (สุดสัปดาห์) ฉบับวันที่ 24-30 ธันวาคม 2553 หลาย ๆ คนอาจจะได้อ่านผ่านออนไลน์ หรือ หนังสือพิมพ์กันบ้างแล้ว ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่หนังสือฉบับนี้ออกวันแรก ดิฉันคิดว่าจะต้องนำมาฝากให้เพื่อน ๆ ให้ได้อ่านกันแน่นอน"




"ซึ่งผู้เขียนเค้าได้นำเสนอเรื่องราวของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง สังคม        ออนไลน์ Facebook และ จูเลียน แอสแซนจ์ จากวิกิลีกส์ ซึ่งบุคคล 2 ท่านนี้ เป็นคนดังระดับโลกและคนหนึ่งก็ได้รับการประกาศเป็นบุคคลแห่งปี (Person of the Year) จาก นิตยสาร (TIME) ปี 2010 แต่อีกคนหนึ่งก็ได้รับคะแนนโหวตผ่าน TIME ให้เป็นบุคคลแห่งปีเช่นเดียวกัน แต่นิตยสารชื่อดังกลับยกตำแหน่งบุคคลแห่งปีให้แก่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แทน"

"กระซิบ" ทีเดียว สะเยียวทั้งโลก

นดังระดับโลก ในปีนี้ ต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าไม่พ้น

1) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เฟซบุ๊ก วัย 26 ปี และ
2) จูเลียน แอสแซนจ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการเว็บไซต์จอมแฉอย่างวิกิลีกส์ วัย 39 ปี

เหตุเพราะทั้งสองได้เอื้อมมือผ่าน "เน็ตเวิร์ก" เขย่าโลกทั้งใบให้สั่นสะเทือน แน่นอน ไม่เว้นแต่ประเทศเล็กๆ อย่าง "ไทยแลนด์" ด้วย



ล่าวสำหรับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อาจจะดูดีเป็น "พระเอก" กว่า จูเลียน แอสแซนจ์
มาร์ค ได้รับการยกย่องจาก "ไทม์" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาให้เป็นบุคคลแห่งปีสำหรับปี 2553 ในฐานะที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในโลก
        
เป็นผู้ที่ทำให้ผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันและเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งกันและกันได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เป็นผู้สร้างระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารใหม่ที่กลายเป็นทั้งสิ่งที่ขาดไม่ได้ ของผู้ใช้ 500 ล้านคนทั้งที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งมาเมื่อค.ศ.2004 หรือเพียง 6 ปีกว่าเท่านั้น
          

ด้วยเหตุนี้ ภาพพจน์ของ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" แห่ง Facebook จึงค่อนข้างเป็นบวก เป็นไอดอล คนรุ่นใหม่ และติดทำเนียบบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วย "อิทธิพล" อันใหญ่หลวงของเฟซบุ๊ก ดังกล่าว ทำให้ในภาพ "บวก"มีภาพอันน่ากลัวแฝงอยู่ในเวลาเดียวกันด้วย เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด อันดับหนึ่งของโลก มีบุคคลทุกระดับของโลกสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ขณะเดียวกัน มีสมาชิกเพิ่มอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง "ข้อมูลข่าวสาร" ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์สามารถแพร่ออกไปทั่วโลกได้ใน "พริบตา" จึงเหมือน "ดาบสองคม"

คมหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์ในแง่การเผยแพร่ข่าวสารในระยะเวลาอันรวดเร็ว
แต่คมหนึ่ง อาจจะเป็น "อันตราย" อย่างใหญ่หลวง สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้ข้อมูลตนเองหลุดออกไป

ด้วยเหตุนี้มีหลายประเทศได้ตัดสินใจทำการบล็อกเว็บไซต์เฟชบุ๊ก โดยอ้างว่าเกรงกลัวเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของรัฐ ประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศปิด ได้แก่ จีน อิหร่าน ซีเรีย ปากีสถาน เวียดนาม และเกาหลีเหนือ แต่กระนั้น ประเทศเปิดทั้งหลาย ก็อดจะเฝ้ามองด้วยความหวาดระแวงไม่ได้ เป็นความหวาดระแวง หลังจากเกิดกรณี "เคเบิลเกต"


  
น่นอน ผู้ที่ทำให้เกิดกรณี "เคเบิลเกต" ก็คือ คนที่ชื่อ จูเลียน แอสแซนจ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการเว็บไซต์จอมแฉอย่างวิกิลีกส์ นั่นเอง

เขาเป็นผู้ที่ได้รับการโหวตผ่านเว็บไซต์ของไทม์ เลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี แต่ไทม์ตัดสินใจเลือก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แทน 

ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากภาพเป็น "ตัวอันตราย" ของ จูเลียน แอสแซนจ์ นั่นเอง เป็นตัวอันตราย หลังจากที่วิกิลีกส์เผยแพร่เอกสารลับทางการทูตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกว่า 250,000 ชิ้น ที่ได้จากการแฮ็กบนเว็บไซต์วิกิลีกส์

"เอกสารลับ" ดังกล่าว เป็นเอกสารของสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 250 แห่ง ที่รายงานกลับไปยังประเทศแม่

แน่นอนเต็มไปด้วยความลับ และประเด็นอันละเอียดอ่อน ที่สร้างผลกระทบ "ร้ายแรง" ทั้งผู้ที่รายงาน และผู้ที่ถูกพาดพิงถึง



การเปิดเผยเอกสารลับของวิกิลีกส์ จึงเปรียบเหมือนการยิงขีปนาวุธลงกลางวง "การทูต" ของโลก
สหรัฐ บาดเจ็บสาหัส เพราะนอกจากความลับถูกเปิดเผยแล้ว ยังทำให้ "ความไว้วางใจ" และ "ความเชื่อมั่น" ที่ประเทศต่างๆ มีให้พังครืนลง 

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศต่างๆ พลอยเจอสะเก็ดขีปนาวุธ บาดเจ็บ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงสาหัส จำนวนมาก จูเลียน แอสแซนจ์ จึงเป็น "บุคคลอันตราย" แถวหน้าของโลก ดังกล่าว

สหรัฐ และหลายประเทศต่างทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้ง "วิกิลีกส์" ทั้งการสะกัดเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์แหล่งทุน ตัว จูเลียน แอสเซนจ์ เองถูกตำรวจอังกฤษจับกุม ตามหมายจับของสวีเดน ในข้อหา ล่วงละเมิดทางเพศหญิงสวีเดน 2 คน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ก่อนที่ศาลสูงของอังกฤษจะอนุญาตให้ประกันตัวออกมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา

เขาประกาศที่จะเดินหน้าตามเจตนารมณ์ของ "วิกิลีกส์" ต่อไป คือการสร้างความ "โปร่งใส" ให้เกิดขึ้น และบีบคั้นให้รัฐบาลทุกประเทศ "เปิดเผย" และ "รับผิดชอบ" ในการกระทำใดๆ ของตน ซึ่งยิ่งกดดันให้สหรัฐต้องหาช่องทางกฎหมายเพื่อเล่นงานจอมแฉให้ได้

ล่าวสำหรับประเทศไทย มีรายงานระบุว่า มีบันทึกทางการทูตของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 2,941 ชิ้น ต่างกรรม ต่างวาระกัน ตกอยู่ในมือของวิกิลีกส์แล้ว

และบันทึกเหล่านี้ ถูกมอบให้ เดอะ การ์เดียน หนังสือพิมพ์ระดับหัวแถวของอังกฤษ ที่ทำความตกลงกับวิกิลีกส์ ในการคัดเลือกเพื่อนำมาเปิดเผยต่อโลก

เอกสารลับของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย หรือ "แบงค็อก เอ็มบาสซี่ เคเบิล" ที่เปิดเผยออกมาแล้วก็เช่น กรณีคดี "วิคเตอร์ บูท" และภาพความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างไทยกับรัสเซีย เป็นต้น

เดอะ การ์เดียน ได้ทยอยเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับประเทศไทย ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ บันทึกของ 2 อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือ นายราล์ฟ แอล. บอยซ์ และ นายอิริค จี จอห์น เพราะขณะที่ดำรงตำแหน่ง ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมือง ที่ "วุ่นวายที่สุดในโลก" พอดี

รายงานต่างๆ ย่อมจะ "แหลมคม" และแสน "ละเอียดอ่อน" นี่จึงเป็นความระทึกใจของ "ทุกฝ่าย" ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ทั้ง คนให้ข้อมูล คนที่ถูกพาดพิงถึง รวมถึงคนวงนอกที่ไม่ได้สัมผัส "ข้อมูล" ภายในอันแสนจะอ่อนไหวนั้น
 

าทีนี้ต้องยอมรับว่า ทั้ง  จูเลียน แอสแซนจ์ แห่งวิกิลีกส์ และ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก มีอิทธิพลอย่างสูงในการเขย่าโลก

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อาจจะเป็นเรื่องบวก ขณะที่ จูเลียน แอสแซนจ์ จะออกไปในทางเรื่องลบ โดยเฉพาะในฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เปิดเผย จึงมีความพยายามที่จะสกัดทุกวิถีทางให้ เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่เอกสารที่กระทบถึงตน

แต่กระนั้น ดูจะเป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายๆ เพราะในโลกแห่งข่าวสารถึงจะปิดที่นี่ ก็ไปโผล่ที่นั่น ที่โน่น และที่ไหนๆ ซึ่งเครือข่ายเน็ตเวิร์กไปถึง

สมเป็นยุคที่ "กระซิบ" ทีเดียว สะเยียว ทั้งโลก! โดยแท้

ขอขอบคุณ : หนังสือพิมพ์มติชน (สุดสัปดาห์) ฉบับวันที่ 24-30 ธันวาคม 2553

"แต่สิ่งที่บุคคลทั้ง 2 ท่านมีเหมือนกัน นั่นคือ "ผู้นำ" ระดับโลกด้านการสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์  และผู้ทรงอิทธิผลระดับโลกที่แม้แต่  "พญาอินทรีย์" ยังต้องสะเทือน!!"

โดย Barbiegirl