วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เปิดโฉม"สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง"ซูเปอร์สตาร์-นายพลหญิง"ผู้โด่งดังกว่าสามีปธน.แดนมังกร"


เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ย. นายสี จิ้นผิงเพิ่งได้รับการประกาศจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ของแดนมังกรอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับประชาชนจีนแล้ว พวกเขากลับคุ้นเคยกับ "เป็ง ลิหยวน"ภรรยาผู้เป็นดารานักร้อง มากกว่า

"เป็ง ลิหยวน"นายพลหญิงผู้โดดเด่น ภริยาของนายสี จิ้นผิง ซึ่งจะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของจีนในอีก3เดือนข้างหน้า มีภูมิหลังน่าสนใจอย่างยิ่ง

เธอเป็น"ราชินีเพลงพื้นบ้านชื่อดัง" เคยปรากฎโฉมทางจอโทรทัศน์ ท่ามกลางสายตาของผู้ชมชาวจีนหลายร้อยล้านคนมานานกว่าสิบปี

เธอสร้างความสำเร็จในวงการบันเทิงอย่างมากมาย และบทบาทดังกล่าว ก็ดำเนินไปพร้อมกับจุดยืนภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์

เป็ง ลิหยวน เข้าสู่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน เมื่ออายุได้ 18 ปี จนกระทั่งผงาดกลายเป็นนายพลหญิง

 แต่ก่อนที่เธอจะเจิดจรัสกลายเป็น"ดาวผู้รุ่งโรจน์"ของแผ่นดินจีน ผู้บังคับบัญชาได้ค้นพบว่า เธอมีพรสวรรค์ในการร้องเพลงและเชิญให้ไปร้องเพลงตามค่ายทหารต่าง ๆ  เพื่อปลุกขวัญกำลังใจของเหล่าทหารหาญแดนมังกร 

 เธอโด่งดังเป็นพลุแตกกลายเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมากหลังจากออกรายการของสถานีโทรทัศน์"CCTV"ในช่วงงานเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งเป็นโชว์ที่ชาวจีนกว่าร้อยล้านคนทั่วประเทศร่วมชม

กล่าวกันว่า เพลงทุกเพลงที่เธอร้อง ต่างได้รับการชื่นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์ และปรากฎโฉมทางโทรทัศน์เป็นประจำเพื่อร้องเพลงปลุกขวัญกำลังใจ รวมทั้งเพลงปลุกใจดังอย่าง"ทุ่งแห่งความหวัง"และ"คนจากหมู่บ้านเรา" 

ต่อมา ในปี 2011 เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยรณรงค์ต่อสู้ปัญหาโรคเอดส์ และวัณโรค



แต่หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ เริ่มกระบวนการแต่งตั้ง"สี จิ้นผิง"เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ "เป็ง ลิหยวน"เก็บตัวเงียบไม่ปรากฎตัวต่อหน้าต่อสาธารณชน หรือพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีต่อสื่อมวลชนเลย ทำให้เกิดกระแสคาดเดากันว่า เธออาจมีบทบาทโดดเด่นมากกว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ผ่าน ๆ มาทุกคนของจีน

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก เมื่อปี 2007 เธอเผยกับนิตยสารฉบับหนึ่งของทางการจีนว่า

 "เมื่ออยู่บ้าน  ไม่เคยคิดว่าจะมีผู้นำอยู่ในบ้านด้วย ในสายตาของดิฉันนั้น สี จิ้นผิง เป็นเพียงแค่สามี และเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าดิฉันเป็นดาราดัง คิดว่าเป็นแค่ภรรยาธรรมดา ๆ คนหนึ่งเท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เธอยังคงเป็นหนึ่งในดาวดวงเด่นที่สุดของแดนมังกร แต่สำหรับ"สี จิ้นผิง"ผู้เป็นสามี กลับเป็นที่รู้จักสำหรับชาวจีนน้อยกว่ามาก

ว่ากันว่า นายสี จิ้นผิง เคยใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นที่ยากลำบาก อาศัยอยู่ใน"บ้านถ้ำ"ใช้แรงงานอยู่ในทุ่งนาที่เป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ  

ตามประวัติ"สี จิ้นผิง"เป็นลูกชายของนายพล"สี หงซุน"สหายของอดีตประธานเหมา เจ๋อตุง

ชีวิตในช่วงวัยรุ่นต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างมาก หลังจากพ่อของเขาร่วงลงจากอำนาจถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ  "สี จิ้นผิง"ต้องลี้ภัยตัวเองไปอยู่เมือง"เหลียงเจียฮี"ในมณฑลซานซี อาศัย"อยู่ในบ้านถ้ำ" ถูกบังคับใช้แรงงานในทุ่งนา ครอบครัวอยู่อย่างชาวนา  อยู่ใน"บ้านถ้ำ"ที่ขุดจากภูเขา

ในการประชุมสภาประชาชนจีนเดือนมีนาคม ปีหน้า"สี จิ้นผิง"จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแทนนายหู จิ่นเทา 

ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ไม่เคยมีปัญหากับชีวิตทางการเมืองเลย หากเทียบกับชีวิตในวัยรุ่นที่ยากลำบากแสนสาหัส !!!

ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 16 พ.ย.55

"สุขุม-เสน่ห์" เผยเหตุผลที่แท้จริง ทำไม?คนไทย "ขี้โกง"




วันที่ 16 พ.ย. ในงานวันคล้ายสถาปนาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเสนาในหัวข้อ "โกงไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้ประโยชน์ สังคมไทยรับได้หรือ" รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า คนดีทำงานได้ไม่ถึงใจหรือมีผลงานที่ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าได้ประโยชน์ พอมีคนเก่งเข้ามาทำให้เขาได้ประโยชน์ เขาก็หลงไหลหรือศรัทธาคนเก่ง ต่อมาคนเก่งถูกกล่าวหาว่าโกง เขาก็เลยบอกว่าโกงก็รับได้ ขอให้เขาได้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นที่ชัดเจนว่า คนมองประโยชน์ของตนเป็นหลัก ในขณะที่คนโกงบางครั้งก็บอกว่าใครๆ ก็โกง เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ถ้าเชื่อกันแบบนี้มากๆ ก็จะกลายเป็นการทุจริตคอรัปชั่นอย่างไม่มีสิ้นสุด

"ผมต้องการความรวดเร็ว กรรมต้องเห็นทันตาคนถึงจะเห็นเป็นตัวอย่าง หรือทำให้เห็นว่าต้องทำความดี เพราะทำความชั่วแล้วจะติดตามตัวเรา ซึ่งจะทำให้คนกลัวการกระทำของตัวเอง และต้องสอนตั้งแต่เด็ก เด็กนี่แหละที่จะเติบโตขึ้นมา เพราะเด็กมีอิทธิพลต่อพ่อแม่สูงมาก อย่างผมเองยอมรับเลยว่าส่วนหนึ่งที่คิดอยู่ตลอดเวลาคือลูกจะขายหน้าเราหรือไม่ถ้าเราโกง" รศ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของเอแบคโพลและสวนดุสิตโพล เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยรับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตกใจ โดยยกตัวอย่างนักการเมือง เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่สามารถบริหารบ้านเมืองโดยไม่ทุจริต จนพาประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตได้ พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสงเกตุว่า การเมืองสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เหมือนใคร เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ใช้นโยบายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนรักและศรัทธา พอถูกจับได้ว่าทุจริต ประชาชนจึงมองว่าเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะคนไทยคลั่งไค้ลฮีโร่ ฉะนั้น เมื่อฮีโร่ทำผิดจึงคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ นักพูดและคอลัมนิสต์ มองว่า เรื่องโกงเป็นเรื่องที่พูดง่าย หากมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราคือ การได้ประโยชน์จากการโกง ซึ่งสิ่งนี้มีความชัดเจน เช่น เรามีความรู้สึกว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของเรา จะร้อนก็ร้อนไป ใครจะไปต่อต้านภาวะเรือนกระจกไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องของเรา แต่วันนี้ภาวะโลกร้อนได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนโดยถ้วนหน้า การทุจริตคอรัปชั่นถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวในความของคนหลายคนในวันนี้ แต่วันหนึ่งการโกงนั้นก็จะกลับเข้ามาเป็นเหมือนภาวะโลกร้อน เข้ามารุมเร้า ท้ายที่สุดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดขึ้นมากมายความย่อยยับ ความหายนะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารู้แล้วต้องเร่งรณรงค์ทำให้ได้ เพราะบางเรื่องเราคิดว่าทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราทำได้ ต้องทำให้เรื่องทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทุกคนต้องสู้ ไม่ใช่สู้บางคน หรือว่าทำเฉพาะที่เป็นผลประโยชน์ของเรา

อ.เสน่ห์ ยังกล่าวอีกว่า พอเห็นค่านิยมของคนที่ยอมรับว่าโกงแล้วได้ประโยชน์นั้น ตนรับไม่ได้เด็ดขาด ถ้าคนเดินบนท้องถนนเป็นร้อย ถามว่าคนไหนไม่โกงบ้างคงไม่มี ปัจจุบันหลายอย่างมีการอำนวยความสะดวก เด็กเจอเรื่องทุจริตตั้งแต่เข้าเรียน เจอทุกหย่อมหญ้าจนกลายเป็นค่านิยม อีกหน่อยต้องมีป.ป.ช. ระดับอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อปราบคนโกง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้

ทั้งนี้ เราควรพูดเรื่องจิตสำนึก คุณธรรม คือสังคมเราชอบให้อภัย มีจิตใจเอื้อเฟื้อ สังคมชอบผลักดันคนให้เป็นคนดีโดยปริยาย โดยเฉพาะคนสาธาระ ซึ่งคนเหล่านี้ ต้องเป็นตัวอย่าง สังคมต้องผลักดันคุณธรรมด้วย แต่ที่ผ่านมาชอบมีการอ้างว่าคนที่ทำประโยชน์ โกงไม่เป็นไร หรือที่ชาวบ้านมองว่า "โกงไม่เป็นไร ขอให้เล่าข่าวเก่ง"

สิ่งที่น่ากลัวคือคำว่าโกง ทุจริต ไม่มีอะไรจับต้องได้ ซึ่งต่างจากการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา พอเราไม่ถูกใจก็จะหาว่ากรรมการโกง แต่การทุจริตวันนี้ สังคมที่มีการโกงกันเราไม่รู้ เราไม่เห็น ลึกลับ รู้แต่รู้ไม่หมด เพราะไม่มีการนำเสนอ ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ที่บอกว่าชอบโกง แต่เขาก็เอาชนะโดยการไม่โกงคืน เขาสามารถเปลี่ยนคนให้เอาชนะโดยการไม่โกงได้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องหลัก เพราะมีหน้าที่หนักไปด้านการปราบปราม และได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่า โดยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ขณะเดียวกันการทุจริตคอรัปชั่นก็ยังมีมากเรื่อยๆ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญในแผน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.งานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ด้านวินัยต่างๆ 2.การสร้างพลังเครือข่ายต่างๆ ในการป้องกัน การประสานทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเข้ามาเป็นพลังในการขับเคลื่อน 3.เครื่องมือในการทำงาน หรือกฎหมายมาช่วยในการทำงาน ซึ่งป.ป.ช. มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกัน เช่น กฎหมายคุ้มครองพยาน กฎหมายอายุความเพื่อสะสางงานที่คงค้าง โดยต้องทำความเข้าใจ อีกฉบับหนึ่งคือ การให้มีป.ป.ช.จังหวัด โดยจะให้มีครบในทุกจังหวัดในเดือนเม.ย. ปี 2556 และ 4.การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลากร เพราะการทำงานมีความสลับซับซ้อน ยิ่งมีการทุจริตเชิงนโยบาย มีการบิดเบือนเพื่อหาผลประโยชน์ ก็ยิ่งต้องมีมาตราการเพิ่ม จึงมีสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริจสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรขึ้นมา

สุดท้ายต้องมีการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง หรือมีการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการทุจริตว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมต้องไม่ยอมรับเรื่องนี้ มากกว่านั้น ต้องยกย่องคนดีให้ปรากฎ และต้องให้ความสำคัญกับบุคคลเป้าหมาย นั่นก็คือเยาวชน ดึงเยาวชนให้กลับมาร่วมทำงาน ตลอดจนการดึงเข้ามาเป็นเครือข่าย ส่วนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้น ควรมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับการให้ภาครัฐมีส่วนช่วยในการผลักดัน

การทุจริตบ้านเราเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ไม่ต่างจากปัญหายาเสพติด จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก ยิ่งการเปิดเวที การเปิดประชาคมอาเซียน ต้องมีการปรับภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน หลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือในการทำงาน เพราะการต่อต้านทุจริตเป็นหน้าที่ของคนทั่วประเทศ

ขอบคุณที่มา : มติชนออนไลน์

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ศึกชิงบัลลังก์พญาอินทรี โอบามา vs รอมนีย์


กล้สู่โค้งสุดท้ายของศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้นำที่ทรงอิทธิพลต่อโลก

สำหรับภูมิภาคอาเซียน เป็นเขตยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันของนายบารัก โอบามา เบนเข็มมาให้ความสำคัญมากขึ้น ในพื้นที่รวมของเอเชีย-แปซิฟิก แข่งขันกับมหาอำนาจจีน

แต่หากมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน พลิกคว้าชัยชนะจะเกิดการเปลี่ยน แปลงยุทธศาสตร์หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประเด็นว่า แม้สหรัฐจะเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจ การปกครอง รวมถึงสังคม และวัฒนธรรมในระดับโลก แต่ไม่ถึงกับมีอิทธิพลมากนักต่ออาเซียน เพราะอยู่ไกล ไม่เหมือนยุโรปหรือตะวันออก กลางที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในหลายๆ ด้าน

ถึงอย่างนั้นนโยบายต่างประ เทศที่โอบามาวางไว้ เรื่องการขยายความสัมพันธ์ กับเอเชียและอาเซียน ก็ดูจะส่งเสริมให้ภูมิภาคเรามีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะแลกเปลี่ยนกัน

ขณะที่นโยบายของนายรอมนีย์ ซึ่งเน้นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ หากมองผิวเผินดูจะไม่เกี่ยวกับอาเซียน แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่าความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจ ต่างมีรากฐานอยู่บนความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะชนะ สิ่งสำคัญสำหรับอเมริกาตอนนี้ คือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้เสียก่อน จุดนี้อาเซียนอาจเข้าไปมีบทบาทได้ เพราะปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง 




สหรัฐซึ่งขาดทรัพยากรหรือต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่ไม่อยากลงทุนในจีน จะมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ในแง่การค้าระหว่างสหรัฐและอาเซียนแนบแน่นขึ้น

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร ผู้เชี่ยวชาญสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากประธานาธิบดีโอบามาได้รับเลือกตั้งอีกสมัย เชื่อว่า นโยบายต่างๆ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากเพราะโอบามารู้แล้วว่าสหรัฐไม่ได้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว

ต่างจากช่วงรับ ตำแหน่งใหม่ๆ โอบามาสัญญาไว้ว่าจะเปลี่ยนโน่นปรับนี่ จะปิดคุกกวนตานาโมในคิวบา จะรีบถอนทหารจากอัฟกา นิสถาน จะทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ความคิดเหล่านี้เป็นเพียงอุดมคติ แต่เมื่อลงมือทำจริงก็ทำได้เพียงครึ่งเดียว

ถึงอย่างนั้นสิ่งหนึ่งซึ่งโอบามาทำนอกกรอบนโยบายที่วางไว้ คือการขยายความสนใจมายังเอเชีย-แปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะขณะที่สหรัฐมีปัญหาเศรษฐกิจ โอบามารู้แล้วว่าจะยืนหยัดสู้เพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเอเชีย

แม้สหรัฐจะต้องเผชิญหน้ากับอิทธิพลและบท บาทของจีน แต่ก็มองว่าคุ้มค่าน่าเสี่ยงลงทุน

ทางด้านรอมนีย์จะเป็นผู้นำแบบอนุรักษนิยมตามแนวทางของพรรค รีพับลิกันที่เน้นความเด็ดขาดและอำนาจทหาร ที่สำคัญเขาเป็นนักธุรกิจก็จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะกระตุ้นการลงทุน ส่งเสริมนโยบายเอื้อบริษัทใหญ่ รวมทั้งมาตรการคานอำนาจกับจีน

รอมนีย์คิดว่าจีนทำให้สหรัฐเสียดุลการค้า แต่ไม่เคยโทษระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้คนรวย ซ้ำยังเชื่อว่าจีนปั่นค่าเงินแกล้งสหรัฐ แต่ไม่วิเคราะห์ว่าบริษัทสหรัฐต่างหากที่เข้าไปลงทุนในจีน ไปสร้างรายได้ตั้งเท่าไหร่ จีนเป็นแค่ฐานผลิต และมีรายได้น้อยนิดจากกำไรที่สหรัฐทำได้

"การเชื่อโดยอคติ ทำให้เห็นได้ว่ารอมนีย์ต่างจากโอบามาอย่างสิ้นเชิงและถ้ารอมนีย์ได้เป็นผู้นำจริงๆ ก็คงจะวุ่นวายน่าดู"
ด้าน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันที่ 6 พ.ย. จะออกมาอย่างไร นโยบายที่ผู้นำสหรัฐควรเร่งวางรากฐาน คือมาตรการต่อเอเชีย ทั้งประเด็นความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี กรณีพิพาทร่วมในทะเลจีนใต้ รวมถึงการขยายกรอบความร่วมมือกับอาเซียน 

แม้สหรัฐจะอยู่ห่างไกล แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าทุกความเคลื่อนไหวของเอเชียต้องมีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ในอนาคตเราจะได้เห็นการแข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าผลกระทบจะขยายมายังอาเซียนด้วย ในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อท่าทีของชาติสมาชิก ซึ่งมีทั้งพันธมิตรสหรัฐอย่างฟิลิปปินส์และประเทศซึ่งอิงจีน ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ 

แต่สหรัฐที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวและจีนจะเปลี่ยนแปลงระดับสูงในเร็วๆ นี้ พอจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า หากอาเซียนเหนียวแน่นและนึกถึงประโยชน์ของประชาคมเป็นหลัก บทบาทของมหาอำนาจก็ไม่มากพอที่จะทำให้แตกแยกได้ 

"ข้อสังเกตก็คือ การที่ประธานาธิบดี โอบามาประกาศจะร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ในวันที่ 15-20 พ.ย. ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชาด้วย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาคได้เป็นอย่างดี"



ขอบคุณ : ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หัวหน้า..ต้องดี..เก่ง..กล้า ?




การทำงานในปัจจุบัน คำบ่นมากที่สุดของพนักงาน กลับไม่ได้เป็นเรื่องของงานหนัก งานยาก มากเท่ากับมีปัญหากับ "คน" ในที่ทำงาน และน่าประหลาดใจเมื่อพบว่า ผู้สร้างปัญหาและก่อความเครียดตัวฉกาจให้กับพนักงาน กลับกลายเป็นเจ้านายหรือหัวหน้างาน มากกว่าผู้ร่วมงานด้วยกันเอง 
ศาสตราจารย์เวย์น ฮ็อกวอร์เตอร์ จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา เปิดเผยการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชา พบความสัมพันธ์ที่เป็น "พิษ" ระหว่างกันอย่างน่าตกใจ

..กว่าร้อยละ 40 ของพนักงานระดับกลาง 400 คน บอกว่า จะทำเป็นไม่รู้จักหรือหลบหลีกเจ้านายถ้าได้พบกันโดยบังเอิญบนถนน 
...ร้อยละ 32 บอกว่า ทำงานกับเจ้านายที่อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย 
...และเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 29 บอกว่า เจ้านายพร้อมหักหลังเพื่อรักษาเก้าอี้ของตัวเอง

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุว่า พนักงานที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้เป็นเวลานานจะมีความเครียดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มีปัญหาในการนอนหลับ เกิดความเจ็บป่วย เห็นคุณค่าของตัวเองน้อยลง ขาดความทุ่มเทและความเต็มใจในการทำงานเพื่อองค์กร แต่ที่ต้องทนทำงานต่อไปเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า การจ้างงานที่ลดลง ทำให้การย้ายงานใหม่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ไม่เพียงการสำรวจครั้งนี้ที่ได้ผลออกมาเช่นนี้ ศาสตราจารย์เวย์น ฮ็อกวอร์เตอร์ กล่าวว่า เขาเคยศึกษาพฤติกรรมของผู้จัดการและพบว่า ร้อยละ 39 ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้กับลูกน้อง ร้อยละ 41 ถูกมองว่าเป็นเจ้านายขี้เกียจ ชอบโยนงานให้ลูกน้อง และร้อยละ 31 บอกว่า เจ้านายคุยโวความสำเร็จของตัวเองเกินความจริง
แม้ว่าการสำรวจนี้จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นบทเรียนที่ดีของการเลือกคนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้างานขึ้นไป ตั้งแต่ระดับเล็กถึงผู้นำระดับสูง หากไม่ต้องการ "ผู้ก่อมลภาวะ" ทำร้ายผู้อื่น จำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความดี ความเก่ง และความกล้า องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้ทั้งองค์กรเจริญก้าวหน้า และทำให้ทุกคนที่ร่วมงานอยู่ด้วยมีความสุขและเต็มใจทุ่มเทให้องค์กร
ความดี ความดีควรเป็นองค์ประกอบแรกของการคัดเลือกคนในการเข้าทำงานในตำแหน่งใด ๆ ก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมกลับละเลยและคัดเลือกเพียง "ความเก่ง" เท่านั้น ดังนั้น เมื่อคนเก่งแต่ไม่ดี เช่น เห็นแก่ตัว ใช้อำนาจไม่เหมาะสม ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ฯลฯ เข้ามาทำงาน ย่อมสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น ดังผลการสำรวจข้างต้น
เราจึงต้องตระหนักว่า คุณสมบัติประการแรกของหัวหน้างาน จึงจำเป็นต้องเป็น "คนดี" โดยมีลักษณะนิสัยพื้นฐาน ได้แก่ เห็นคุณค่าคน เคารพและให้เกียรติคน รักความยุติธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ มีคุณธรรมเป็นหลักในการตัดสินใจ มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ มีความถ่อมใจ ไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นต้น

ความเก่ง นับเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญ หัวหน้างานจำเป็นต้องมีความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจเป็นอย่างดีในงานที่ทำ มีความสามารถในการประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร รวมทั้งมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้เป้าหมายของงานประสบความสำเร็จ อาทิ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม การริเริ่มสร้างสรรค์ การวางแผนยุทธศาสตร์และการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้เหตุผล ที่สำคัญ หัวหน้างานจำเป็นต้องเป็นคนที่รักการเรียนรู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพราะความเก่งจะต่อเนื่องจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง

ความกล้า ในฐานะผู้นำทีมจำเป็นต้องมีความกล้าเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่คนอื่น ๆ ในทีม อาทิ หัวหน้างานต้องกล้าที่จะเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ ๆ กล้าแก้ปัญหาที่ยากลำบาก กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะรับผิดชอบแทนทีมงานทั้งหมด ความกล้าจะทำให้หัวหน้างานเป็นผู้ที่มีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งทีมกล้าที่จะแก้ปัญหาหรือฝ่าฟันวิกฤตที่เกิดขึ้นร่วมกัน
ความกล้าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น หากหัวหน้าไม่มีความกล้า เช่น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าคิดริเริ่ม ชอบเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง ไม่กล้ารับผิดชอบ คุณสมบัติเช่นนี้ย่อมทำให้หัวหน้างานขาดความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าอ่อนแอ ที่สำคัญ อาจไม่สามารถพาทีมงานบรรลุเป้าหมายของงานได้
ความดี ความเก่ง ความกล้า เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้นำ" ไม่ว่าระดับใดก็ตาม หากขาดองค์ประกอบใดไป ย่อมสามารถกลายเป็นหัวหน้างานที่สร้าง "สารพิษ" สะสมในชีวิตผู้ร่วมงานและทำลายองค์กรได้ในที่สุด

ขอบคุณ : http://men.sanook.com

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"โอบามา-รอมนีย์"เฉือนคารม"โต้วาที"ดุเดือด

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครต  และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน ขึ้นแท่นปราศรัยในเช้าวันนี้ตามเวลาในไทยและจับมือทักทายก่อนโต้วาทีประชันวิสัยทัศน์กันนัดแรกจากทั้งหมด 3 นัดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ



ทั้งสองได้ปะทะฝีปากกันอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะด้านนโยบายและแผนเศรษฐกิจ  โดยตลอด 90 นาที ทั้งนายโอบามาและนายรอมนีย์ต่างกล่าวแสดงจุดยืนต่อแผนด้านภาษี การปฏิรูประบบสาธารณสุข และบทบาทของรัฐบาล

ผู้สมัครทั้งสองเชือดเฉือนคารมกันเป็นเวลา 90 นาทีบนเวทีมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 6 พฤศจิกายนนี้โดยอาจทำให้นายโอบามาได้เสียงสนับสนุนนำโด่งขึ้นไปอีก หรือนายรอมนีย์จะได้คะแนนตีตื้นขึ้นมา 

ผู้สมัครทั้งสองใช้เวลาแนะนำตัวเองช่วงสั้น ๆ เป็นเวลา 2 นาที โดยนายโอบามา ถือโอกาสแสดงความยินดีกับนางมิเชล ภริยา ในโอกาสครบรอบแต่งงาน 20 ปีในวันเดียวกับวันโต้วาทีครั้งนี้  ส่วนนายรอมนีย์ ก็พยายามผลักดันนโยบายการสร้างงานด้วยแผนการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก   นายจิม เลห์เรอร์ พิธีกรรุ่นใหญ่ของพีบีเอสนิวส์อาวร์เป็นผู้ดำเนินรายการโดยแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 15 นาที เพื่อประชันวิสัยทัศน์กันด้านนโยบายในประเทศและเศรษฐกิจ

โดยรอมนีย์ พยายามโจมตีเข้าที่จุดอ่อนของโอบามา ซึ่งก็คือ เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ที่รอมนีย์บอกว่า ทำให้คนอเมริกันชนชั้นกลาง ต้องตกระกำลำบาก รายได้หดหาย ผู้คนตกงาน พร้อมกับให้คำมั่นว่า ถ้าได้เป็นผู้นำสหรัฐ เขาจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ประชาชนกลับมามีงานทำ ขณะที่โอบามาโต้กลับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของรอมนีย์ว่าเอื้อคนรวย

นายรอมนีย์ กล่าวโต้นายโอบามาว่า เขามีมุมมองที่ไม่แตกต่างจากเมื่อสี่ปีก่อนสมัยที่รับตำแหน่งใหม่ๆ ทั้งการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองขึ้น เก็บภาษีมากขึ้น มีกฎระเบียบมากขึ้น เพราะถ้าหากเขาจะทำอีก อาจเรียกรัฐบาลชุดนี้ได้ว่ารัฐบาลรั่วซึม ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับอเมริกา นายรอมนีย์ยังให้คำมั่นที่จะไม่ลดภาษีสำหรับชาวอเมริกันที่มีฐานะดี และกล่าวว่านายโอบามานำเสนอแผนด้านภาษีแบบผิดๆในระหว่างการเดินทางออกหาเสียง

นอกจากนั้น นายรอมนีย์ยังโจมตีนายโอบามาที่ไม่ลดการขาดดุลงบประมาณลงเหลือครึ่งหนึ่งตามที่เคยสัญญาไว้เมื่อปี 2008 และยืนยันว่า สหรัฐฯจะต้องไม่ยอมตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับกรีซและสเปน เขากล่าวว่า เพื่อเป็นการลดการขาดดุลงบประมาณ เขาจะยกเลิกกฎหมายด้านสาธารณสุขของนายโอบามาเมื่อปี 2010 และลดเงินอุดหนุนแก่สถานีโทรทัศน์สาธารณะ และรายการที่ไม่มีประโยชน์


ด้านนายโอบามา กล่าวโต้การโจมตีของนายรอมนีย์ที่อ้างถึงการลดการขาดดุลว่าไม่มีความสมดุล และว่านโยบายของนายรอมนีย์จะนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีของรีพับลีกัน และรอมนีย์จะทำให้นโยบายในยุคบุชหวนกลับมาอีก และนำไปสู่วิกฤติการเงินและเกื้อหนุนคนรวย ทำร้ายคนจนและชนชั้นกลาง ขณะที่ทั้งนายโอบามา และนายเลห์เรอร์ ดูเหมือนจะกดดันรอมนีย์ เกี่ยวกับเรื่องที่หลุดความเห็นเกี่ยวกับคนอเมริกัน ในเทปลับอื้อฉาว ที่เขาบอกว่า คนอเมริกัน 47 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าพวกเขาเป็นผู้เคราะห์ร้าย ที่ต้องพึ่งพารัฐบาลและไม่ยอมรับผิดชอบชีวิตตนเอง

ผลสุ่มสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐของวอลสตรีทเจอร์นัล/เอ็นบีซี นิวส์ ปรากฏว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีคะแนนนำ นายมิตต์ รอมนีย์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันราวร้อยละ 49-46 โดยเฉลี่ยพบว่ามีคะแนนนำอยู่ราว 3.5 จุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

โพลเนชันแนล พับลิกเรดิโอ ระบุว่า ประธานาธิบดีโอบามา มีคะแนนนำที่ร้อยละ 51-44 ในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ และอยู่ที่ร้อยละ 50-44 ในกลุ่มรัฐซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการช่วงชิงคะแนนเสียงกันอย่างหนัก (แบทเทิลกราวด์สเตท)  ขณะที่โพลของวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์ให้นายโอบามา เหนือกว่าด้วยร้อยละ 52-41 ในกลุ่มรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งหรือที่เรียกว่าสวิงสเตท

โดยเมื่อการโต้วิสัยทัศน์นาน 90 นาทีสิ้นสุดลง ผลโพลระบุว่า รอมนีย์ ยังคงมีคะแนนตามหลังโอบามา คาดกันว่าการดีเบตครั้งนี้ มีผู้ชมทั่วสหรัฐมากถึง 60 ล้านคน




ขอบคุณ: www.matichon.co.th






วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

"โอบามา"เรียกร้องผู้นำทั่วโลกยุติความรุนแรง-ยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่าน


ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 30 นาที ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 67 ซึ่งมีผู้นำและตัวแทนจาก 193 ประเทศเข้าร่วม

เขาเรียกร้องผู้นำโลกให้แสดงการต่อต้านความเชื่อคตินิยมสุดขีด ในการกล่าวสุนทรพจน์  ในการเปิดประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ  ในนครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ (25 ก.ย.)


นายโอบามากล่าวว่า นี่ถือเป็นพันธะสัญญาของผู้นำทุกคนที่จะแสดงความเห็นแย้งต่อความรุนแรงและคตินิยมสุดขีด โดยการกล่วอ้างถึงทูตสหรัฐฯประจำลิเบีย ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุประท้วงต่อต้านหนังหมิ่นศาสนาอิสลาม และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯจะไม่ยินยอมให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งรัฐบาลอิหร่านในการได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์

 นายโอบามายังประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวิดีโอหนังหมิ่นอิสลามว่าเป็นการทำลายความเป็นอุดมการณ์ของสหประชาชาติ โดยเขากล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่ทางการทูตและเอกอัคราชทูตสหรัฐที่เสียชีวิตภายในสถานกงสุลเมืองเบงกาซี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 

พร้อมท้าทายยูเอ็นให้แสดงความมั่นใจว่า อนาคตของทุกคนจะต้องถูกกำหนดโดยคนเช่นนานคริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ มิใช่คนที่สังหารเขา และถึงเวลาแล้วที่จะทำให้คนที่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักปฏิบัติทางการเมืองหมดความสำคัญ ซึ่งเป็นการเมืองที่จะทำให้เราทุกคนยากที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราต้องทำร่วมกัน ทั้งการให้การศึกษาแก่เด็กๆ การสร้างโอกาสที่เราทุกคนสมควรได้รับ ปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างพันธะสัญญาต่อความเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ชีค อามีร์ ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล-ธานีแห่งกาตาร์ กล่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น ล้มเหลวต่อการยุติวิกฤต ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ดีที่ชาติหรับจะสามารถเข้าแทรกแซงในซีเรีย

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้นำคนใหม่ของอียิปต์ กล่าวว่า  เสรีภาพในการแสดงออกต้องมีความรับผิดชอบด้วย  ส่วนประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก กล่าวเรียกร้องให้จัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้มีการดูหมิ่นหรือโจมตีศาสนาต่าง ๆ

ขอบคุณที่มา : http://www.matichon.co.th/

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การบริหารความเครียดของผู้นำ

     พูดถึงความเครียด ผู้บริหารหรือผู้นำคนใดไม่เคยสัมผัสคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน ความเครียด ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทีเดียว 
    หากความเครียดที่มีในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้น ให้เกิดพลังในการสร้างสรรค์งาน เกิดความมุมานะพยายามทำงานให้สำเร็จในทางตรงกันข้าม หากความเครียดเลยขีดที่พอดี จะกลับกลายเป็นพลังทำลาย โกรธแค้น ลังเล ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง อยากทำร้ายตนเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมเกรี้ยวกราดต่อคนรอบข้าง ใช้คำพูดที่ขาดสติยับยั้ง จนถูกมองว่าบ้าอำนาจ หรือไม่ก็น้อยใจลาออกไปเองเห็นได้ทั่วไปจากผู้นำระดับสูงในบ้านเมือง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดจะออกมารูปไหนขึ้นกับภูมิหลังที่มาของผู้นำและระดับ ความรุนแรงของความเครียด 









จากกราฟ แสดงความสัมพันธ์ของระดับความเครียดกับผลงาน จะเห็นว่า การที่คนเรามี ความเครียด ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงขับในการสร้างผลงานได้ดี หากมีมากเกินไป จะส่งผล ให้ผลงานแย่ลง อาจแบ่ง ความเครียดเป็น 2 ประเภท

        
1 ประเภทแรก เรียกว่า แรงเครียดบวก (Creative tension) เช่น ความรู้สึกต้องรับผิดชอบ มากขึ้น (แต่มีความภูมิใจลึกๆ) งานมีมาก (แต่ผลสำเร็จสูง) เหนื่อยมาก (แต่รายได้ดี) เป็นต้น แรงเครียดประเภทนี้มี ตัวพยุง (Buffer) ความรู้สึกเครียดอยู่ภายใน ไม่ให้เป็นแรงทำลายได้แก่ ฉันทะคือความพอใจอยากได้อยากเป็น เมื่อเกิดความพอใจแล้วก็จะเกิด วิริยะ คือความพยายาม ตามมา ทำให้เกิด จิตะ คือมีจิตใจจดจ่อแน่วแน่ตั้งมั่นเป็นสมาธิส่งผลให้จะทำอะไรก็จะใคร่ครวญ ได้รอบคอบ ไม่วู่วาม คือมีวิมังสา

         
2. ประเภทที่สอง เรียก แรงเครียดลบ(Destructive tension) เช่น ความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ มากขึ้น งานมีมาก (แต่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม) เหนื่อยมาก (ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ทำไป ก็เท่านั้น)ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากมีแรงเสริมให้ความเครียดแสดงอาการมากขึ้นจนอาจควบคุมไม่ได้ กลายเป็นแรงทำลายไป ความรู้สึกมาส่งเสริมความเครียดนี้ให้รุนแรง ทางพุทธธรรมเรียกว่า ตัณหา ได้แก่ ความโลภ อยากได้มากจนเกินศักยภาพและความพอดีในเหตุและผล ความโกรธ เมื่อไม่ได้ ก็เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ความหลง คือความไม่เข้าใจในโลกที่เป็นจริงที่ว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดผลคืออะไร การทำดีย่อมได้ดีทำไม่ดีย่อมไม่ได้ดีตามกรรมที่ทำ มอง ตนเองไม่ออกไม่รู้ความสามารถและข้อจำกัดของตน ไม่รู้จักความพอประมาณไม่เกินเลย ไม่รู้จัก กาลเวลาที่เหมาะสมไม่รู้จักและเข้าใจในคนอื่นรอบตัวเพื่อการคบหา ไม่รู้จักสังคมที่ตนดำรงอยู่ ตามหลักของ สัปปุริสธรรม7ซึ่งเป็นธรรมะของสัตบุรุษ(คนดี)ที่พึงเข้าใจปฏิบัติเพื่อการอยู่ใน สังคมอย่างมั่นคงและเป็นสุขได้


  
 การบริหารความเครียด (Stress management)
ไม่มีใครในโลกสักคนที่ปราศจากความเครียด แม้แต่สัตว์เดียรฉาน ยิ่งเป็นผู้นำด้วยแล้ว สิ่งต่างๆ ถาโถมเข้ามามากมายให้ต้องคิด ต้องฟัง ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ปัญหา หากประคองตนไม่อยู่ ก็จะเกิดภาวะ ”สติแตก”แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้เป็นที่ครหาของผู้คนรอบข้าง เกิดความเสียหาย ขาด ความนับถือและเครารพของลูกน้องได้ การจัดการความเครียดของผู้นำ ไม่ได้มุ่งที่จะให้หมดไปได้หากแต่จะทำให้เบาบางลงได้อย่างไร แนวทางมีดังนี้

      1. ยอมรับความเครียดของผู้นำเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อตัดสินใจมาเป็นผู้นำ ภารกิจย่อมก่อความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา ควรมองให้มันเป็นเรื่องปกติวิสัย เฉกเช่น การจะเป็นไต้ก๋งเรือ ย่อมมองเห็นกระแสน้ำ พายุคลื่น ลมแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเผชิญและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปให้ได้ มันเป็นสภาวะธรรมชาติ ของทุกสิ่งที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดไม่อาจเลี่ยงได้ เพียงแต่เราต้องมีสติเพียงพอ และรู้จักการปล่อย วางบ้าง

     
 2. ตั้งสติให้ได้เมื่อมีปัญหา
         - ทำใจให้สงบเพื่อตั้งสติเมื่อมีปัญหา ไม่วู่วาม ด่วนตัดสินใจหรือใช้คำพูดแสดง พฤติกรรมออก มาโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ เปิดใจรับฟังปัญหา คิดเสียว่าปัญหาจะหนักหนาแค่ไหนก็ต้องจบลง ได้ เพียงแต่ว่าจะใช้วิธีไหน ถ้าขาดสติก็จะคิดไม่ออก น้ำที่ถูกสาดออกไปในอากาศ ย่อมไม่อาจ ลอยอยู่ได้ ต้องตกถึงพื้นและไหลไปสู่จุดต่ำสุดฉันไดทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่ดีที่สุดของมัน ตามสภาวการณ์ฉันนั้น เพียงแต่ว่าเราจะใช้วิธีการจัดการเข้ามาช่วยซึ่งต้องมีสติปัญญาเป็นปัจจัย หรือ ปล่อยให้มันจบลงตามธรรมชาติเท่านั้นเอง คิดได้ใจก็จะสงบ

        
 - กล้าเผชิญกับปัญหา ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้โดยไม่รับรู้เข้าใจในปัญหา หลายคนพยายาม ระงับไม่พยายามพูดถึงปัญหาเพราะ
    ความเกรงใจหรือเกรงกลัว หากเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจแก้ ปัญหาได้
  
        
 - แบ่งปัญหาตามความสำคัญก่อนหลัง หากมีปัญหาประดังเข้ามามาก ควรเรียงลำดับความสำคัญ ของปัญหาเพื่อเอามาพิจารณา ไม่ควรเผชิญกับปัญหาทั้งหมดพร้อมๆกัน เพราะจะสูญเสียพลังในการ แก้ปัญหาไปมาก เริ่มไปทีละเรื่องเดี๋ยวก็หมดเอง

       
  - ใคร่ครวญวิเคราะห์ปัญหาด้วยใจเป็นกลาง บนพื้นฐานความเป็นจริง ให้มองปัญหาจากข้อมูล ที่เป็นจริง แล้วค่อยๆไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หากมองปัญหาผิด การแก้ปัญหาก็ล้มเหลว

       
  - เลือกทางออกที่ดีที่สุด บางครั้งคนเราไม่อาจบอกสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นว่าอันไหนดีที่สุด แต่ผู้นำ ก็ต้องถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด บนพื้นฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด หากผู้นำไม่ตัดสินใจ ลอยตัวเหนือปัญหา เท่ากับการก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่สิ้นสุด

       
  - ไม่เสียใจ กับความผิดพลาดเมื่อคิดดีแล้ว สี่ขายังรูพลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่มีอะไร บนโลก ที่แน่นอนที่สุด เมื่อตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว ณ เวลานั้น ถือว่าดีที่สุด ต้องยอมรับ ตนเอง และ พร้อมที่จะแก้ไข ถ้าผิดพลาด

     
 3. ให้เวลากับปัญหาถ้าถึงทางตัน
บางครั้งปัญหาหรืองานประดังเข้ามาดังห่าฝน หรือการแก้ปัญหาถึงทางตันที่ยังมองหาทางออกไม่ได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เวลากับมันฝืนดันทุรังไปรังแต่จะมึน สติแตกสร้างความเครียดให้ตนเอง ทรมานเปล่าๆ ให้ปล่อยใจ ออกจากเหตุการณ์ปัญหาสักระยะ พอเราว่างจาก มันและปล่อยวางได้ สติก็จะกลับคืนมาและปัญญาในการแก้ปัญหาก็จะเกิด คิดเสียว่า ยังไงก็ต้องแก้ได้ไม่ช้าก็เร็ว อาจใช้ วิธีปรึกษาหารือกับผู้อื่นที่เราคิดว่าเขาพอช่วยเราได้

   
   4. มองอดีตในเรื่องดีๆที่ผ่านมา
การคิดถึงความสุข ความสำเร็จในอดีตบ้างในยามที่ท้อแท้ หรือมองเห็นชีวิตคนอื่นที่แย่กว่าเราอาจ ช่วย ให้เรามองเห็นคุณค่าของตนเองและมีกำลังใจในการแก้ปัญหา หรือมุ่งทำสิ่งดีๆ เป็นการลดความ เครียดลงไป

      5. มองว่าวันนี้ยังไงก็ต้องผ่านไป

วันเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง วันนี้จะกลายเป็นอดีตในวันพรุ่งนี้ ความสุขและความทุกข์ของคนเรา เมื่อมี เกิดขึ้น ย่อมมีวันดับไปสลับกันเช่นนี้ไปชั่วชีวิตตราบที่มีลมหายใจอยู่
      6. มองวันข้างหน้าว่าต้องมาถึง
ดวงอาทิตย์ มีขึ้นแล้วมีลับจากไปเป็นมาอย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด หากวันนี้มีความทุกข์มากมาย ให้คิดว่า พรุ่งนี้ยังมีวันใหม่เสมอ เพียงแต่ขอให้เรามีความหวัง มีลมหายใจและความพยายาม ความกล้าพร้อม ที่จะเผชิญกับมันในวันรุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โอกาสย่อมเป็นของเรา

      7. หาใครสักคนที่ฟังเราได้ ไม่ควรอยู่คนเดียว

ควรมีคู่คิดไว้เพื่อปรึกษาและระบายความกดดันที่มีอยู่ เพราะบางครั้งผู้นำไม่อาจแสดงอาการ ออกได้อย่างเสรีต่อหน้าผู้คน ความที่ต้องอดทนอดกลั้นอาจกลายเป็นความกดดันให้เราต้องพบ กับความเครียด ผู้ที่สามารถฟังเราได้อาจเป็นสามีหรือภรรยาลูกน้อง คนสนิทที่รู้ใจและเข้าใจ บทบาทของตนเองไม่แสดงอาการเหิมเกริมเพราะใกล้ชิดผู้นำ(Power of reference)เพราะเขาอาจนำความลำบากใจมาสู่ผู้นำได้
      8. ออกกำลังกาย ผ่อนคลายสมอง
การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข (Endophin) อีกทั้งเป็นการปลด ปล่อยความเครียดออกมา ลดความฟุ้งซ่านได้นอกจากช่วยสุขภาพแข็งแรง

      9. ศึกษาธรรมะเพื่อชำระความเครียด


หลักของพุทธธรรมจะกล่าวถึง ความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ หนทางที่จำดับทุกข์และแนวทางปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์ ช่วยให้ผู้นำมองเห็นกฎแห่งความเป็นจริงว่าด้วย ความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง เมื่อมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่สามารถยึดถือให้สิ่งที่รักหรือชัง ทุกข์หรือสุข ให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล ทุกอย่าง เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ความไม่รู้ถึงสภาวะธรรมชาติของโลกทำให้เกิดการรับรู้และปรุงแต่ง ไม่สิ้นสุดตามตัณหากิเลสของบุคคล การยึดความสุขในทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอาความอยากเป็น ความไม่อยากเป็นมาไว้มากเกินพอดีทำให้เกิดความทุกข์ ผู้นำตราบที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขอเพียงเข้า ใจสภาวธรรมที่เป็นจริงตามธรรมชาติของตนเอง ผู้อื่นและ เหตุการณ์ และมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักการ ใคร่ครวญไตร่ตรองในเหตุการณ์ต่างๆอย่างรอบคอบ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีความรักเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักวางเฉยกับเหตุการณ์ที่เราไม่อาจแก้ไขได้ แค่นี้ก็สุขได้เกินพอ สุขแบบโลกๆ 

       ข้อคิดผู้นำกับความเครียด
 1. การระงับความเครียดด้วยยา เหล้า กิเลสราคะ เปรียบเหมือนการเก็บขยะไว้ใต้พรม เป็นเพียงการระงับความเครียดไว้ชั่วขณะ พอรู้ตัว ความทุกข์ก็ยังมีอยู่และจะรุนแรงมากขึ้นอีก
2. การแก้ความเครียดต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับมันด้วยสติและปัญญา ไม่หลอกตนเองและผู้อื่น
3. ผู้นำแตกต่างจากพระอรหันต์คือผู้นำยังอยู่ในโลกีย์ภูมิ ส่วนพระอรหันต์อยู่ในโลกุตระภูมิ ดังนั้น ความสุขของผู้นำคือสุขที่เกิดจากการยึดหลักความพอดีและพอเพียง สุขของพระอรหันต์คือสุุขที่เกิดจากการหลุดพ้นสามารถดับอวิชชาได้ 

ขอบคุณ : http://www.ksbrhospital.com

ความรัก ราศีกรกฏ



https://www.facebook.com/barbie.uk



ความรัก ราศีกรกฏ

สำหรับเจ้าของ Blog และเพื่อนๆ ที่เกิดในเดือนนี้นะคะ...*-*


คนที่เกิดในราศีกรกฏ บ้านคือหัวใจสำคัญของเขา เป็นที่ที่ปลอดภัยและรู้สึกผ่อนคลายที่สุด เมื่ออยู่บ้านกับครอบครัว ธรรมชาติของชาวกรกฎอยู่บนฐานของดวงจันทร์ และมีสัญลักษณ์ประจำราศีคือ ปู ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆลงๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ม่ค่อยมีความมั่นใจ หากคุณเป็นคนสนิทกับเขาคุณจะต้องยอมอุทิศเวลาและอารมณ์เพื่อคอยเอาใจและดูแลเขามากหน่อย และต้องเป็นผู้นำให้กับเขาด้วย แต่เขาก็ไม่ใช่คนเรื่องมากอย่างที่คิด เขาโกรธง่ายหายเร็ว และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างดี ดังนั้นในการคบกับชาวราศีกรกฎจะเป็นบทพิสูจน์ที่ดี สำหรับความใจเย็น อดทนและความเป็นผู้นำของคุณเลยทีเดียว

ความโรแมนติกแบบราศีกรกฎ

ชาวกรกฎเป็นคนอ่อนหวาน มีเสน่ห์เย้ายวนใจ ขี้อ้อน จนยากที่ใครจะสามารถทนกับความหวานและน่ารักของเขาได้ ชาวกรกฎเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อเขาจะจัดโต๊ะอาหารอย่างสวยงามเพื่อสร้างบรรยากาศ เป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน หาอะไรทำไปเรื่อยๆในยามว่าง โดยทั่วไปชาวกรกฎจะเป็นคนที่ค่อนข้างโรแมนติกอยู่แล้ว ทั้งการกระทำและอารมณ์ความรู้สึก แต่ของอย่างนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ถ้าคู่รักไม่ตอบสนองหรือสร้างบรรยากาศให้ไปกันได้ ชาวกรกฎก็อาจจะหมดอารมณ์ จนท้ายที่สุดก็จะงอนคุณไปเลย

ความรักของราศีกรกฎ

ชาวกรกฎเป็นผู้ซึ่งมีความเข้าใจและรู้ใจคนที่คบหาได้เป็นอย่างดี ยกเว้นอย่างเดียวคือมักจะจำชื่อคนไม่ค่อยได้ นอกนั้นก็ถือได้ว่าเป็นคนที่ควรจะคบค้าสมาคมด้วยอย่างมากเลยทีเดียว เขาเป็นคนมีน้ำใจและจริงใจ ชาวกรกฎเป็นคนที่มีเสน่ห์ เป็นที่อยากรู้จักของคนทั่วไปแต่สำหรับคู่รัก คงจะต้องทำใจกับความเจ้าเสน่ห์อันนี้ของเขาด้วย ถ้าคุณคือคนที่คบอยู่กับชาวกรกฎ ไม่ว่าจะในฐานะแฟนหรือเพื่อนสนิทคุณควรจะจดจำรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญเกี่ยวกับเขาให้ได้ ไม่ว่าจะวันเกิด วันสำคัญ อื่นๆในตัวเขา เพลงที่เขาชอบ อาหารที่ชอบ อะไรทั้งหลายเหล่านี้ถ้าคุณจำได้และหาโอกาสทำอะไรเล็กๆน้อยๆ เพื่อเขาบ้างเขาจะปลื้มใจในตัวคุณมาก

ความสัมพันธ์แบบชาวราศีกรกฎ

ความรักของชาวกรกฎ เป็นในแบบรักน้อยๆ แต่รักนานๆ ความรักของเขาจะไม่ค่อยรีบร้อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะรีบไปทำไม เขาจะทะนุถนอมดูแลความรักของเขาอย่างดี และอุทิศเวลาและทุกอย่างเพื่อให้ความรักของเขาราบรื่นแต่ก็มีบ้างบางครั้งที่จะทำอะไรตามอารมณ์มากเกินไป ดังนั้นคุณควรให้อภัยเขา เพราะชาวกรกฎจริงจังและจริงใจกับความรักมาก นอกจากนั้นชาวกรกฎยังถือได้ว่าเป็นคนที่เหมาะสำหรับเป็นคู่รักที่สุดสำหรับคนที่แสวงหาคนรักในแบบนี้ ต้องการคนคอยดูแลเอาใจใส่ จริงใจและอบอุ่น นั่นล่ะเขา …ชาวกรกฎ

SEX กับราศีกรกฎ

สำหรับชาวกรกฎเรื่องSex เปรียบเสมือน กิจกรรมในยามพักผ่อนของเขา เขาเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดีในเรื่องนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความพอใจในแต่ละครั้ง นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ยอมรับอารมณ์ของคู่รักได้เสมอ ในยามที่มีอารมณ์ ความต้องการที่ไม่ตรงกัน ชาวราศีกรกฎถือเป็นคู่รักที่ดีและไม่เคยบกพร่องในเรื่องนี้แต่อย่างใด แล้วอะไรหล่ะที่ชาวราศีกรกฎต้องการ ชาวกรกฎต้องการคนที่ใจเย็น สบายๆ ทำอะไรไม่รีบร้อน และมีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งจะทำให้คบกันได้นานเขาต้องการคนที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิดเห็นได้ เพราะเขาคิดว่าความเข้าใจและความสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญที่สุดในการคบหากัน


ก้าวแกร่งที่ยังต้องสู้ ภาวะผู้นำสตรีเอเชีย

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกโคจรเข้าหา "เอเชีย" จนอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางประชาคมโลก

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยังคงเป็นข้อครหาถึงอารยธรรมความเจริญแบบก้ำกึ่งสไตล์เอเชียก็คือ ความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง

ถึงอย่างนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเอเชีย หรือ เอเชีย โซไซตี้ องค์กรไม่หวังผลกำไรในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดผลสำรวจสถานะสตรีเอเชียว่า ไทยและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูง ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดในภูมิภาคถึงร้อยละ 39

รองลงมาคือจีน ที่ร้อยละ 25 อินเดียร้อยละ 14 ส่วนชาติมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นกลับรั้งอันดับสุดท้ายเพราะมีผู้นำหญิงเพียงร้อยละ 5






อย่างไรก็ตามทั้งที่บทบาทของผู้นำหญิงในเอเชียมีมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่กลับไม่สามารถลดกระจกกั้นความแตกต่างทางเพศลงได้

ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงที่ดูน่ายินดีจึงเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ก้าวแรกของผู้หญิงเอเชียในระดับทวีป ไม่ใช่บนเวทีระดับโลก

จากรายงานช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี 2554 โดยที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ระบุว่า 22 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและมองโกเลีย มีบทบาทความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุด

ในทางกลับกัน ปากีสถาน เนปาล อินเดีย เกาหลีใต้และกัมพูชา คือประเทศที่มีผู้นำหญิงน้อยที่สุด

ส่วนสิงคโปร์ มองโกเลีย มาเลเซียและไทย ติดโผอันดับต้นๆ ในฐานะประเทศสตรีเสรี มีผู้นำหญิงร่วมอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทเอกชนและภาครัฐ มีความเท่าเทียมในการว่าจ้างและจ่ายเงินเดือน รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพสตรีควบคู่ไปกับวาระหลักๆ ของชาติ

ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียใต้ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีผลสำรวจสวนกระแสสังคมนิยมลิดรอนสิทธิสตรี เมื่อศรีลังกา บังกลาเทศและอินเดีย ติด 3 ใน 5 อันดับ นักการเมืองหญิงผู้มีอำนาจ

เช่นเดียวกับเนปาลและปากีสถานที่มีจำนวนนักการเมืองหญิงในสภาเข้าขั้นท็อปไฟว์

บังกลาเทศเองก็มีรัฐมนตรีหญิงหลายคน ส่วนอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศยังติดโผจำนวนสตรีนักการเมืองท้องถิ่น

แต่เพราะเหตุผลหลักๆ เป็นไปตามธรรมเนียมนิยม ส่งผลให้สมาชิกเพศหญิงในครอบครัวเลือกที่จะเดินตามเส้นทางสายงานการเมืองของผู้เป็นพ่อ หรือสามี และมีดีกรีเป็นแค่ตัวตายตัวแทน ไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะหญิงเก่งที่ลงเล่นการเมือง

ศ.แอทริด เอส. ตูมิเนซ จากโรงเรียนนโยบายสาธารณะลีกวนยูของสิงคโปร์ ผู้รวบรวมรายงาน กล่าวว่าแม้ผู้หญิงจะมีสถานะที่หลากหลายขึ้นในปัจจุบัน แต่ช่องว่างระหว่างรายได้ชายหญิงกลับเป็นประเด็นจุดชนวนชี้ให้เห็นความขัดแย้งของนโยบายสนับสนุนสิทธิสตรีและรูปธรรมจริง โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงทั่วโลกได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายมากถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งในเอเชียมีผู้หญิงกว่า 2 พันล้านคน ได้ค่าจ้างและเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายที่มีหน้าที่การงานใกล้เคียงกัน

ประเทศร่วมภูมิภาคซึ่งมีช่องว่างระหว่างรายได้ห่างกันมากที่สุด คือเกาหลีใต้ เนปาล บังกลาเทศ จีน และญี่ปุ่น

ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ มองโกเลียและไทย ติดอันดับประเทศที่มีความแตกต่างของรายได้น้อยที่สุด

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการยึดติดประเพณีเหยียดเพศของชนชาติในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว กลายเป็นสังคมเลือกปฏิบัติตั้งแต่เด็กยังไม่ทันเกิด เรื่อยไปจนถึงเข้าสู่วัยเรียน วัยทำงาน ส่งผลต่อปัญหาซ้ำซากของกรณีทำแท้งลูกสาว การทำร้ายผู้หญิง รวมถึงการกีดกันสิทธิสตรี

และด้วยอคติดังกล่าว เด็กผู้หญิงจึงเป็นชนชั้นสอง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการและการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กผู้ชายได้

ถึงอย่างนั้นเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้นำหญิงมากที่สุดในโลก และปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศถึง 4 คน ได้แก่ นางชีก ฮาสินา วาเจด นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ, นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, นางเจนนี ชิพลีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย 

แม้ธรรมเนียมการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จำนวนหญิงแกร่งแห่งเอเชียซึ่งพร้อมจะยืนแถวหน้าและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก มากกว่าก้มหัวยอมรับหน้าที่ซึ่งสังคมกำหนดไว้ให้ก็มีเพิ่มมากขึ้นจนน่าดีใจ

เหลือแค่คนรอบข้างให้โอกาส และไม่ตีค่า "คน" จากเปลือกนอกของความเป็น "หญิง"หรือ "ชาย"


ขอบคุณ: http://www.khaosod.co.th

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการบริหารงานของผู้นำท้องถิ่น

แนวคิดในการบริหารงานเพื่อท้องถิ่น.
เมื่อกล่าวถึงภารกิจของรัฐ แต่เดิมนั้นรัฐมีภารกิจ “เฝ้ายาม” คือ รัฐมีหน้าที่ที่สำคัญ 2 ประการ คือ ป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศ และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่ต่อมารัฐสมัยใหม่ได้ขยายภารกิจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของประชาชนมากขึ้น โดยเข้ามาจัดการเรื่องสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ ภารกิจของรัฐสมัยใหม่จึงมีมากและซับซ้อนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยรวม (บรรเจิด สิงคะเนติ, 2551, หน้า 166) โดยรัฐเป็นผู้กำหนดและดำเนินการแจกแจงคุณค่าให้แก่สังคมโดยส่วนรวมอย่างเป็นธรรม เมื่อรัฐกระจายอำนาจให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้อำนาจจะต้องก่อให้เกิดผลในการแจกแจงคุณค่าต่าง ๆ ที่ตกถึงประชาชน ให้ประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นโดยรวม โดยมิใช่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนทางการเมืองหรือเพื่อการสนับสนุนผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แนวความคิดเรื่องการบริหารงานเพื่อท้องถิ่นนี้เป็นกรอบทิศทางให้ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับผิดชอบต่อสังคม บริหารงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ การมีส่วนร่วม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในท้องถิ่น
            
 เพื่อประมวลแนวความคิดในการบริหารงานภาครัฐและสังเคราะห์กรอบแนวทางการบริหารที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยการบริหารงานของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้สำรวจแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
             
Northouse (2001, pp. 258-264) เห็นว่า การบริหารที่ดีนั้น ผู้บริหารต้องทำงานอยู่บนหลักจริยธรรมของผู้นำ (principles of ethical leadership) ซึ่งประกอบด้วย
             1. การเคารพผู้อื่น (respect others) โดยยอมรับในความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมที่แตกต่างกัน
             2. การให้บริการผู้อื่น (serve others) โดยให้ในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์
             3. ให้ความเท่าเทียม (just) ตามความต้องการ ตามสิทธิ ตามความสามารถ ตามการเสียสละ และตามคุณธรรม
             4. มีความซื่อสัตย์ (honest) ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
             5. มุ่งสร้างชุมชน (build community) โดยมีเป้าหมายที่สังคมหรือชุมชนต้องการร่วมกัน


ประมวลจริยธรรมของสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์อเมริกัน (American Society for Public Administration) กำหนดกรอบจริยธรรมของสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริหารในองค์การภาครัฐให้รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณในวิชาชีพ (spirit of professional) ไว้ 5 ข้อ ได้แก่ (Rosenbloom, Krarchuck, & Rosenbloom, 2002, pp. 583-584)
             1. ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ (serve the public interest)
             2. เคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (respect the constitution and the law)
             3. มีความซื่อสัตย์ (demonstrate personal integrity)
             4. ส่งเสริมจริยธรรมในองค์การ (promote ethical organizations)
             5. มุ่งสู่ความเป็นเลิศในวิชาชีพ (strive for professional excellence)
             
Denhardt and Denhardt (2003, pp. 42-43) ได้เสนอหลักการบริหารงานภาครัฐในกระแสของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับประชาชนผู้รับบริการไว้ว่า
             1. การให้บริการแก่ประชาชนไม่ใช่การกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเท่านั้น แต่ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนด้วย
             2. การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชนเพื่อสร้างความสนใจร่วมและรับผิดชอบร่วมกัน
             3. การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะของการเป็นพลเมืองมากกว่าการเป็นผู้ประกอบการ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะยอมรับที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมมากกว่าการเป็นผู้จัดการธุรกิจที่คิดและทำเสมือนเงินงบประมาณเป็นเงินของตนเอง
             4. การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย นโยบายและโครงการต่าง ๆ จะสนองความต้องการของสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิผลหากมีการทำงานร่วมกัน
             5. การตระหนักว่าการมีสำนึกรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรสนใจแค่เรื่องของการทำงานตามนโยบาย และการอยู่รอดของตน แต่ต้องสนใจเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ค่านิยมของชุมชน สังคม บรรทัดฐานทางการเมือง มาตรฐานวิชาชีพและประโยชน์สาธารณะ
             6. มีการสร้างค่านิยมร่วมด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบาย ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์และค่านิยมร่วมกัน
             7. การคำนึงว่าประชาชนเป็นผู้มีคุณค่า ไม่ใช่แค่ผลผลิต หน่วยงานภาครัฐจะประสบความสำเร็จในระยะยาวหากดำเนินการด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและสร้างการเป็นผู้นำร่วมกับประชาชนบนพื้นฐานของการเคารพประชาชน
             
Downs (1968, p. 68) เห็นว่า ในทางการบริหาร อุดมการณ์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในองค์การและนอกองค์การ อุดมการณ์นี้ถูกกำหนดขึ้นจากประสบการณ์ ความสำนึกร่วมกันของคนในองค์การ และการชี้นำของเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้เป็นเครื่องชี้นำให้การปฏิบัติงานขององค์การบรรลุเป้าหมาย
             
Lewis and Gilman (2005, pp. 36-37) ได้ศึกษาค่านิยมร่วม (core values) ของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development--OECD) ที่ได้กำหนดค่านิยมร่วมของการบริหารภาครัฐ (public service) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถือปฏิบัติ ซึ่งพบว่าในปี ค.ศ. 2000 ประเทศต่าง ๆ กำหนดค่านิยมร่วมที่เหมือนกันถึง 8 ประการ คือ
             1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง (impartiality)
             2. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย (legality)
             3. ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณธรรม (integrity)
             4. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส (transparency)
             5. ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ (efficiency)
             6. ปฏิบัติต่อผู้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน (equality)
             7. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ (responsibility)
             8. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม (justice)
            
 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำค่านิยมสร้างสรรค์และจรรยาบรรณให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือปฏิบัติ ซึ่งค่านิยมสร้างสรรค์ 5 ประการ ได้แก่
             1. กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง (moral courage) โดยยึดมั่นในความถูกต้องดีงามความชอบธรรม ความเสียสละ หลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ ไม่โอนอ่อนตามอิทธิพล
             2. มีคุณธรรมและความรับผิดชอบ (integrity) ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาแยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ต่อผลงานองค์การ และประชาชน
             3. โปร่งใสตรวจสอบได้ (transparency) ปรับปรุงกลไกและวิธีการทำงานให้มีความชัดเจน โปร่งใส สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ และพร้อมเปิดเผยข้อมูลอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
             4. ไม่เลือกปฏิบัติ (nondiscrimination) ให้บริการโดยเสมอภาค เป็นธรรม เน้นความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และถูกต้อง ด้วยความมีน้ำใจเมตตา
             5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน (result orientation) โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล งานแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ เกิดผลดีต่อหน่วยงานและส่วนรวม โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า


พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2546 (2546) ได้กำหนดหลักการบริหารราชการที่มีคุณภาพ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก มีผลใช้บังคับการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยนั้น ประกอบด้วยหลัก 6 ประการ คือ
             1. หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ให้ทันสมัยและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับโดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล
             2. หลักคุณธรรม ได้แก่ การส่งเสริมคนดีคนเก่ง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต
             3. หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติปรับปรุงการทำงานให้มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
             4. หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ
             5. หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะ และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน
             6. หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า ดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์

จากแนวความคิดดังกล่าว สามารถประมวลแนวคิดของการบริหารงานภาครัฐได้ ดังนี้

             จากแนวคิดการบริหารภาครัฐดังกล่าว นำมาสังเคราะห์ลักษณะร่วมเป็นกรอบความคิด (concept) และคำจำกัดความ ได้ว่า การบริหารงานเพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่นของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การบริหารงานที่มุ่งบรรลุเป้าหมายโดยคำนึงถึงมิติดังต่อไปนี้
             1. การคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency& effectiveness) หมายถึง การบริหารงานอย่างมีระเบียบแบบแผน การทำงานเป็นทีม การนำความทันสมัยมาใช้ในงาน การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ร่วมงาน และความมุ่งมั่นในความสำเร็จ
             2. ความรับผิดชอบต่อสังคม (responsiveness) หมายถึง ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน การตระหนักถึงปัญหาของสังคม ความรวดเร็วในการแก้ปัญหา และการมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน
             3. การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น (relevance) หมายถึงการตอบสนองต่อประชาชนในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มน้อย และการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของท้องถิ่น
             4. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงาน (participation) หมายถึง การยอมรับความแตกต่างทางความคิด การยอมรับฟังความเห็นจากประชาชน การเปิดเผยข้อมูล และการยอมรับการตรวจสอบจากผู้เกี่ยวข้อง
             5. ความซื่อสัตย์ เป็นธรรม โปร่งใส (honest, justice & transparency) หมายถึงการบริหารงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การไม่ทุจริต การยึดถือหลักคุณธรรม (merit) และความโปร่งใสในการบริหารงาน
             6. ความมีจริยธรรมและเคารพกฎหมาย (legality-morality) หมายถึง การปฏิบัติตนภายในกรอบของกฎหมายและจริยธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมดังนั้น จึงกำหนดฐานคติของการวิจัยไว้ว่า ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้นำตามกฎหมายที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนและต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติจึงต้องบริหารงานเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นด้วยการจัดสรรและกระจายคุณค่าให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม ตรงกับความต้องการเหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องถิ่น และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะต้องยึดถือประโยชน์สุขและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก (citizen centric) ตามกรอบความคิดการบริหารงานทั้ง 6 มิติ

บรรณานุกรม
บุญแสง ชีระภากร. (2552). ภาวะผู้นำและการบริหารงานของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บรรเจิด สิงคะเนติ. (2551). การทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน. ปัจฉิมบท คตส. พันธกิจการตรวจสอบแทนประชาชน, 1, 166-170.
Denhardt, J., & Denhardt, R. (2003). The new public service: Serving not steering. New York: Sharpe.
Downs, A. (1968). Inside bureaucracy. Boston: Little, Brown.
Northouse, P. G. (2001). Leadership: Theory and practice (2nd ed.). Thousand Oaks, CA: Sage.
Rosenbloom, D. H., Krarchuck, R. S., & Rosenbloom, D. G. (2002). Public administration, understanding management, politics, and law in the public sector (5th ed.). New York: McGraw-Hill.
Lewis, C. W., & Gilman, S. C. (2005). The ethics challenge in public service: A problem-solving guide (2nd ed.). San Francisco: Jossey-Bass.

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" เล่าเรื่องหลังไมค์ "หัวอกลูกผู้หญิง" 3 ผู้นำสตรีบนเวทีโลก





ขอย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือน มีนาคม (24-27) 55 น.ส ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ และยังได้เข้าร่วมหารือในหัวข้อ National Measures and International Cooperration to Enhance Nuclear Security พร้อมกับผู้นำจากทั่วโลกกว่า 53 ประเทศ

แน่นอนว่าทั้งสื่อของสาธารณรัฐเกาหลีและของไทย ต่างติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในการเยือนแดนกิมจิครั้งนี้ทุกฝีก้าว แม้กระทั่งนายกฯหญิงของไทยสวมฮันบกชุดประจำชาติของเกาหลี เป็นที่ฮือฮาเมื่อสื่อหลายสำนักนำไปเผยแพร่

กระทั่งล่าสุดภาพการประชุมผู้นำจากทั่วโลก สื่อหลายสำนักก็ให้ความสนใจในตัวนายกรัฐมนตรีหญิง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ของไทยเท่านั้น แต่ยังมีนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเดนมาร์กและออสเตรเลียร่วมในเวทีระดับโลกนี้ด้วย

เวทีนี้จัดให้ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนได้นั่งชิดติดกัน และมีภาพที่เหล่านายกฯหญิงต่างหันมากระซิบกระซาบกัน โดยมีนายกฯของไทยนั่งตรงกลาง ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ทำให้สตรีทั้ง 3 คน สนิทสนมกันจนกระทั่งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสิ่งที่ผู้นำหญิงต้องเผชิญเหมือนกันระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ


นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกฯไทย



นางจูเลีย  กิลลาร์ด นายกฯออสเตรเลีย 



นางเฮลลี่ ธอร์นนิ่ง ชมิดท์ นายกฯเดนมาร์ก 

ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ว่า ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับ 2 ผู้นำหญิง ที่มีหัวอกเดียวกันในฐานะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ กับ นางเฮลลี่ ธอร์นนิ่ง ชมิดท์ นายกฯเดนมาร์ก วัย 45 ปี และนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกฯออสเตรเลีย วัย 50 ปี 

"สิ่งที่แลกเปลี่ยนมุมมองคล้าย ๆ กัน คือความเป็นผู้นำหญิงอาจจะเจอเรื่องการคาดหวังค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นบทบาทผู้นำหญิงที่ต้องพิสูจน์ และเท่าที่ดูทั้ง 3 คนกำลังใจดี ยิ่งต้องให้พิสูจน์ยิ่งต้องทำให้คนเห็นว่าเราทำได้ ต้องทำด้วยความอดทน และผลงานเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ กับเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายมุมมอง 

ดิฉันได้พูดคุยกับผู้นำหญิง 2 ประเทศว่า วันนี้ประเทศไทยเรามีนโยบายสตรีที่ชัดเจน ได้แชร์มุมมองว่า ดิฉันเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไทย อยากทำอะไรในส่วนผู้หญิงบ้าง แต่ไม่ใช่ทำแค่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่ให้บทบาทผู้หญิงเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้หญิงเหมือนกัน อาศัยกระบวนการความเข้าใจ สร้างให้ผู้หญิงเข้ามามีโอกาสเป็นผู้นำทางสังคม ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน เพื่อให้สุดท้ายแล้ว เป็นส่วนในการเสริมสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป" 

ทั้งนี้ปัญหาที่ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนได้เผชิญคล้าย ๆ กันก็คือ เรื่องการแต่งกาย น.ส.ยิ่งลักษณ์เล่าว่า ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเจอแบบเดียวกัน คือถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งตัว แต่เราก็มองแบบเดียวกันว่าเป็นธรรมชาติผู้หญิง ที่คนเราก็ต้องมีการรักสวยรักงามบ้าง ที่สำคัญต้องแต่งกายให้เหมาะสมถูกกาลเทศะ ถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศด้วย 

"น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสในการพูดคุยเรื่องทิศทางการบริหารและผลงานของแต่ละคน แต่ทุกคนให้กำลังใจกันและกัน เพราะมีหัวอกเดียวกัน ต้องอดทน และพิสูจน์ผลงานเท่านั้น"

นายกฯยิ่งลักษณ์ยกตัวอย่างการเจรจากับผู้นำหญิงออสเตรเลีย ที่เริ่มผ่านบทพิสูจน์ไปแล้วขั้นหนึ่งจนสุดท้ายคนในพรรคให้การยอมรับ ส่วนนายกฯเดนมาร์กเพิ่งเป็นนายกฯได้ 6 เดือน แต่อันที่จริงเขาอยู่ในวงการการเมืองมาตั้งแต่อายุ 27 ปี

โอกาสที่ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนจะได้มาเจอกันในเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อได้พบกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเธอจะหันหน้าเข้าหากันแล้วปรับทุกข์ตามประสาสตรีบนเก้าอี้ผู้นำสูงสุดในการบริหารของประเทศ
"สิ่งที่แลกเปลี่ยนมุมมองคล้าย ๆ กัน คือความเป็นผู้นำหญิงอาจจะเจอเรื่องการคาดหวังค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นบทบาทผู้นำหญิงที่ต้องพิสูจน์ และเท่าที่ดูทั้ง 3 คนกำลังใจดี ยิ่งต้องให้พิสูจน์ยิ่งต้องทำให้คนเห็นว่าเราทำได้ ต้องทำด้วยความอดทน และผลงานเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ กับเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายมุมมอง 

"ดิฉันได้พูดคุยกับผู้นำหญิง 2 ประเทศว่า วันนี้ประเทศไทยเรามีนโยบายสตรีที่ชัดเจน ได้แชร์มุมมองว่า ดิฉันเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไทย อยากทำอะไรในส่วนผู้หญิงบ้าง แต่ไม่ใช่ทำแค่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่ให้บทบาทผู้หญิงเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้หญิงเหมือนกัน อาศัยกระบวนการความเข้าใจ สร้างให้ผู้หญิงเข้ามามีโอกาสเป็นผู้นำทางสังคม ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน เพื่อให้สุดท้ายแล้ว เป็นส่วนในการเสริมสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป" 
ทั้งนี้ปัญหาที่ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนได้เผชิญคล้าย ๆ กันก็คือ เรื่องการแต่งกาย น.ส.ยิ่งลักษณ์เล่าว่า ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเจอแบบเดียวกัน คือถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งตัว แต่เราก็มองแบบเดียวกันว่าเป็นธรรมชาติผู้หญิง ที่คนเราก็ต้องมีการรักสวยรักงามบ้าง ที่สำคัญต้องแต่งกายให้เหมาะสมถูกกาลเทศะ ถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศด้วย 

"น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสในการพูดคุยเรื่องทิศทางการบริหารและผลงานของแต่ละคน แต่ทุกคนให้กำลังใจกันและกัน เพราะมีหัวอกเดียวกัน ต้องอดทน และพิสูจน์ผลงานเท่านั้น"
นายกฯยิ่งลักษณ์ยกตัวอย่างการเจรจากับผู้นำหญิงออสเตรเลีย ที่เริ่มผ่านบทพิสูจน์ไปแล้วขั้นหนึ่งจนสุดท้ายคนในพรรคให้การยอมรับ ส่วนนายกฯเดนมาร์กเพิ่งเป็นนายกฯได้ 6 เดือน แต่อันที่จริงเขาอยู่ในวงการการเมืองมาตั้งแต่อายุ 27 ปี

โอกาสที่ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนจะได้มาเจอกันในเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อได้พบกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเธอจะหันหน้าเข้าหากันแล้วปรับทุกข์ตามประสาสตรีบนเก้าอี้ผู้นำสูงสุดในการบริหารของประเทศ