วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การบริหารความเครียดของผู้นำ

     พูดถึงความเครียด ผู้บริหารหรือผู้นำคนใดไม่เคยสัมผัสคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน ความเครียด ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทีเดียว 
    หากความเครียดที่มีในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้น ให้เกิดพลังในการสร้างสรรค์งาน เกิดความมุมานะพยายามทำงานให้สำเร็จในทางตรงกันข้าม หากความเครียดเลยขีดที่พอดี จะกลับกลายเป็นพลังทำลาย โกรธแค้น ลังเล ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง อยากทำร้ายตนเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมเกรี้ยวกราดต่อคนรอบข้าง ใช้คำพูดที่ขาดสติยับยั้ง จนถูกมองว่าบ้าอำนาจ หรือไม่ก็น้อยใจลาออกไปเองเห็นได้ทั่วไปจากผู้นำระดับสูงในบ้านเมือง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดจะออกมารูปไหนขึ้นกับภูมิหลังที่มาของผู้นำและระดับ ความรุนแรงของความเครียด 









จากกราฟ แสดงความสัมพันธ์ของระดับความเครียดกับผลงาน จะเห็นว่า การที่คนเรามี ความเครียด ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงขับในการสร้างผลงานได้ดี หากมีมากเกินไป จะส่งผล ให้ผลงานแย่ลง อาจแบ่ง ความเครียดเป็น 2 ประเภท

        
1 ประเภทแรก เรียกว่า แรงเครียดบวก (Creative tension) เช่น ความรู้สึกต้องรับผิดชอบ มากขึ้น (แต่มีความภูมิใจลึกๆ) งานมีมาก (แต่ผลสำเร็จสูง) เหนื่อยมาก (แต่รายได้ดี) เป็นต้น แรงเครียดประเภทนี้มี ตัวพยุง (Buffer) ความรู้สึกเครียดอยู่ภายใน ไม่ให้เป็นแรงทำลายได้แก่ ฉันทะคือความพอใจอยากได้อยากเป็น เมื่อเกิดความพอใจแล้วก็จะเกิด วิริยะ คือความพยายาม ตามมา ทำให้เกิด จิตะ คือมีจิตใจจดจ่อแน่วแน่ตั้งมั่นเป็นสมาธิส่งผลให้จะทำอะไรก็จะใคร่ครวญ ได้รอบคอบ ไม่วู่วาม คือมีวิมังสา

         
2. ประเภทที่สอง เรียก แรงเครียดลบ(Destructive tension) เช่น ความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ มากขึ้น งานมีมาก (แต่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม) เหนื่อยมาก (ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ทำไป ก็เท่านั้น)ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากมีแรงเสริมให้ความเครียดแสดงอาการมากขึ้นจนอาจควบคุมไม่ได้ กลายเป็นแรงทำลายไป ความรู้สึกมาส่งเสริมความเครียดนี้ให้รุนแรง ทางพุทธธรรมเรียกว่า ตัณหา ได้แก่ ความโลภ อยากได้มากจนเกินศักยภาพและความพอดีในเหตุและผล ความโกรธ เมื่อไม่ได้ ก็เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ความหลง คือความไม่เข้าใจในโลกที่เป็นจริงที่ว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดผลคืออะไร การทำดีย่อมได้ดีทำไม่ดีย่อมไม่ได้ดีตามกรรมที่ทำ มอง ตนเองไม่ออกไม่รู้ความสามารถและข้อจำกัดของตน ไม่รู้จักความพอประมาณไม่เกินเลย ไม่รู้จัก กาลเวลาที่เหมาะสมไม่รู้จักและเข้าใจในคนอื่นรอบตัวเพื่อการคบหา ไม่รู้จักสังคมที่ตนดำรงอยู่ ตามหลักของ สัปปุริสธรรม7ซึ่งเป็นธรรมะของสัตบุรุษ(คนดี)ที่พึงเข้าใจปฏิบัติเพื่อการอยู่ใน สังคมอย่างมั่นคงและเป็นสุขได้


  
 การบริหารความเครียด (Stress management)
ไม่มีใครในโลกสักคนที่ปราศจากความเครียด แม้แต่สัตว์เดียรฉาน ยิ่งเป็นผู้นำด้วยแล้ว สิ่งต่างๆ ถาโถมเข้ามามากมายให้ต้องคิด ต้องฟัง ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ปัญหา หากประคองตนไม่อยู่ ก็จะเกิดภาวะ ”สติแตก”แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้เป็นที่ครหาของผู้คนรอบข้าง เกิดความเสียหาย ขาด ความนับถือและเครารพของลูกน้องได้ การจัดการความเครียดของผู้นำ ไม่ได้มุ่งที่จะให้หมดไปได้หากแต่จะทำให้เบาบางลงได้อย่างไร แนวทางมีดังนี้

      1. ยอมรับความเครียดของผู้นำเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อตัดสินใจมาเป็นผู้นำ ภารกิจย่อมก่อความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา ควรมองให้มันเป็นเรื่องปกติวิสัย เฉกเช่น การจะเป็นไต้ก๋งเรือ ย่อมมองเห็นกระแสน้ำ พายุคลื่น ลมแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเผชิญและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปให้ได้ มันเป็นสภาวะธรรมชาติ ของทุกสิ่งที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดไม่อาจเลี่ยงได้ เพียงแต่เราต้องมีสติเพียงพอ และรู้จักการปล่อย วางบ้าง

     
 2. ตั้งสติให้ได้เมื่อมีปัญหา
         - ทำใจให้สงบเพื่อตั้งสติเมื่อมีปัญหา ไม่วู่วาม ด่วนตัดสินใจหรือใช้คำพูดแสดง พฤติกรรมออก มาโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ เปิดใจรับฟังปัญหา คิดเสียว่าปัญหาจะหนักหนาแค่ไหนก็ต้องจบลง ได้ เพียงแต่ว่าจะใช้วิธีไหน ถ้าขาดสติก็จะคิดไม่ออก น้ำที่ถูกสาดออกไปในอากาศ ย่อมไม่อาจ ลอยอยู่ได้ ต้องตกถึงพื้นและไหลไปสู่จุดต่ำสุดฉันไดทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่ดีที่สุดของมัน ตามสภาวการณ์ฉันนั้น เพียงแต่ว่าเราจะใช้วิธีการจัดการเข้ามาช่วยซึ่งต้องมีสติปัญญาเป็นปัจจัย หรือ ปล่อยให้มันจบลงตามธรรมชาติเท่านั้นเอง คิดได้ใจก็จะสงบ

        
 - กล้าเผชิญกับปัญหา ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้โดยไม่รับรู้เข้าใจในปัญหา หลายคนพยายาม ระงับไม่พยายามพูดถึงปัญหาเพราะ
    ความเกรงใจหรือเกรงกลัว หากเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจแก้ ปัญหาได้
  
        
 - แบ่งปัญหาตามความสำคัญก่อนหลัง หากมีปัญหาประดังเข้ามามาก ควรเรียงลำดับความสำคัญ ของปัญหาเพื่อเอามาพิจารณา ไม่ควรเผชิญกับปัญหาทั้งหมดพร้อมๆกัน เพราะจะสูญเสียพลังในการ แก้ปัญหาไปมาก เริ่มไปทีละเรื่องเดี๋ยวก็หมดเอง

       
  - ใคร่ครวญวิเคราะห์ปัญหาด้วยใจเป็นกลาง บนพื้นฐานความเป็นจริง ให้มองปัญหาจากข้อมูล ที่เป็นจริง แล้วค่อยๆไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หากมองปัญหาผิด การแก้ปัญหาก็ล้มเหลว

       
  - เลือกทางออกที่ดีที่สุด บางครั้งคนเราไม่อาจบอกสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นว่าอันไหนดีที่สุด แต่ผู้นำ ก็ต้องถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด บนพื้นฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด หากผู้นำไม่ตัดสินใจ ลอยตัวเหนือปัญหา เท่ากับการก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่สิ้นสุด

       
  - ไม่เสียใจ กับความผิดพลาดเมื่อคิดดีแล้ว สี่ขายังรูพลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่มีอะไร บนโลก ที่แน่นอนที่สุด เมื่อตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว ณ เวลานั้น ถือว่าดีที่สุด ต้องยอมรับ ตนเอง และ พร้อมที่จะแก้ไข ถ้าผิดพลาด

     
 3. ให้เวลากับปัญหาถ้าถึงทางตัน
บางครั้งปัญหาหรืองานประดังเข้ามาดังห่าฝน หรือการแก้ปัญหาถึงทางตันที่ยังมองหาทางออกไม่ได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เวลากับมันฝืนดันทุรังไปรังแต่จะมึน สติแตกสร้างความเครียดให้ตนเอง ทรมานเปล่าๆ ให้ปล่อยใจ ออกจากเหตุการณ์ปัญหาสักระยะ พอเราว่างจาก มันและปล่อยวางได้ สติก็จะกลับคืนมาและปัญญาในการแก้ปัญหาก็จะเกิด คิดเสียว่า ยังไงก็ต้องแก้ได้ไม่ช้าก็เร็ว อาจใช้ วิธีปรึกษาหารือกับผู้อื่นที่เราคิดว่าเขาพอช่วยเราได้

   
   4. มองอดีตในเรื่องดีๆที่ผ่านมา
การคิดถึงความสุข ความสำเร็จในอดีตบ้างในยามที่ท้อแท้ หรือมองเห็นชีวิตคนอื่นที่แย่กว่าเราอาจ ช่วย ให้เรามองเห็นคุณค่าของตนเองและมีกำลังใจในการแก้ปัญหา หรือมุ่งทำสิ่งดีๆ เป็นการลดความ เครียดลงไป

      5. มองว่าวันนี้ยังไงก็ต้องผ่านไป

วันเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง วันนี้จะกลายเป็นอดีตในวันพรุ่งนี้ ความสุขและความทุกข์ของคนเรา เมื่อมี เกิดขึ้น ย่อมมีวันดับไปสลับกันเช่นนี้ไปชั่วชีวิตตราบที่มีลมหายใจอยู่
      6. มองวันข้างหน้าว่าต้องมาถึง
ดวงอาทิตย์ มีขึ้นแล้วมีลับจากไปเป็นมาอย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด หากวันนี้มีความทุกข์มากมาย ให้คิดว่า พรุ่งนี้ยังมีวันใหม่เสมอ เพียงแต่ขอให้เรามีความหวัง มีลมหายใจและความพยายาม ความกล้าพร้อม ที่จะเผชิญกับมันในวันรุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โอกาสย่อมเป็นของเรา

      7. หาใครสักคนที่ฟังเราได้ ไม่ควรอยู่คนเดียว

ควรมีคู่คิดไว้เพื่อปรึกษาและระบายความกดดันที่มีอยู่ เพราะบางครั้งผู้นำไม่อาจแสดงอาการ ออกได้อย่างเสรีต่อหน้าผู้คน ความที่ต้องอดทนอดกลั้นอาจกลายเป็นความกดดันให้เราต้องพบ กับความเครียด ผู้ที่สามารถฟังเราได้อาจเป็นสามีหรือภรรยาลูกน้อง คนสนิทที่รู้ใจและเข้าใจ บทบาทของตนเองไม่แสดงอาการเหิมเกริมเพราะใกล้ชิดผู้นำ(Power of reference)เพราะเขาอาจนำความลำบากใจมาสู่ผู้นำได้
      8. ออกกำลังกาย ผ่อนคลายสมอง
การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข (Endophin) อีกทั้งเป็นการปลด ปล่อยความเครียดออกมา ลดความฟุ้งซ่านได้นอกจากช่วยสุขภาพแข็งแรง

      9. ศึกษาธรรมะเพื่อชำระความเครียด


หลักของพุทธธรรมจะกล่าวถึง ความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ หนทางที่จำดับทุกข์และแนวทางปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์ ช่วยให้ผู้นำมองเห็นกฎแห่งความเป็นจริงว่าด้วย ความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง เมื่อมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่สามารถยึดถือให้สิ่งที่รักหรือชัง ทุกข์หรือสุข ให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล ทุกอย่าง เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ความไม่รู้ถึงสภาวะธรรมชาติของโลกทำให้เกิดการรับรู้และปรุงแต่ง ไม่สิ้นสุดตามตัณหากิเลสของบุคคล การยึดความสุขในทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอาความอยากเป็น ความไม่อยากเป็นมาไว้มากเกินพอดีทำให้เกิดความทุกข์ ผู้นำตราบที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขอเพียงเข้า ใจสภาวธรรมที่เป็นจริงตามธรรมชาติของตนเอง ผู้อื่นและ เหตุการณ์ และมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักการ ใคร่ครวญไตร่ตรองในเหตุการณ์ต่างๆอย่างรอบคอบ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีความรักเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักวางเฉยกับเหตุการณ์ที่เราไม่อาจแก้ไขได้ แค่นี้ก็สุขได้เกินพอ สุขแบบโลกๆ 

       ข้อคิดผู้นำกับความเครียด
 1. การระงับความเครียดด้วยยา เหล้า กิเลสราคะ เปรียบเหมือนการเก็บขยะไว้ใต้พรม เป็นเพียงการระงับความเครียดไว้ชั่วขณะ พอรู้ตัว ความทุกข์ก็ยังมีอยู่และจะรุนแรงมากขึ้นอีก
2. การแก้ความเครียดต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับมันด้วยสติและปัญญา ไม่หลอกตนเองและผู้อื่น
3. ผู้นำแตกต่างจากพระอรหันต์คือผู้นำยังอยู่ในโลกีย์ภูมิ ส่วนพระอรหันต์อยู่ในโลกุตระภูมิ ดังนั้น ความสุขของผู้นำคือสุขที่เกิดจากการยึดหลักความพอดีและพอเพียง สุขของพระอรหันต์คือสุุขที่เกิดจากการหลุดพ้นสามารถดับอวิชชาได้ 

ขอบคุณ : http://www.ksbrhospital.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ