วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ก้าวแกร่งที่ยังต้องสู้ ภาวะผู้นำสตรีเอเชีย

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกโคจรเข้าหา "เอเชีย" จนอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางประชาคมโลก

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยังคงเป็นข้อครหาถึงอารยธรรมความเจริญแบบก้ำกึ่งสไตล์เอเชียก็คือ ความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง

ถึงอย่างนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเอเชีย หรือ เอเชีย โซไซตี้ องค์กรไม่หวังผลกำไรในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดผลสำรวจสถานะสตรีเอเชียว่า ไทยและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูง ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดในภูมิภาคถึงร้อยละ 39

รองลงมาคือจีน ที่ร้อยละ 25 อินเดียร้อยละ 14 ส่วนชาติมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นกลับรั้งอันดับสุดท้ายเพราะมีผู้นำหญิงเพียงร้อยละ 5






อย่างไรก็ตามทั้งที่บทบาทของผู้นำหญิงในเอเชียมีมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่กลับไม่สามารถลดกระจกกั้นความแตกต่างทางเพศลงได้

ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงที่ดูน่ายินดีจึงเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ก้าวแรกของผู้หญิงเอเชียในระดับทวีป ไม่ใช่บนเวทีระดับโลก

จากรายงานช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี 2554 โดยที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ระบุว่า 22 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและมองโกเลีย มีบทบาทความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุด

ในทางกลับกัน ปากีสถาน เนปาล อินเดีย เกาหลีใต้และกัมพูชา คือประเทศที่มีผู้นำหญิงน้อยที่สุด

ส่วนสิงคโปร์ มองโกเลีย มาเลเซียและไทย ติดโผอันดับต้นๆ ในฐานะประเทศสตรีเสรี มีผู้นำหญิงร่วมอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทเอกชนและภาครัฐ มีความเท่าเทียมในการว่าจ้างและจ่ายเงินเดือน รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพสตรีควบคู่ไปกับวาระหลักๆ ของชาติ

ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียใต้ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีผลสำรวจสวนกระแสสังคมนิยมลิดรอนสิทธิสตรี เมื่อศรีลังกา บังกลาเทศและอินเดีย ติด 3 ใน 5 อันดับ นักการเมืองหญิงผู้มีอำนาจ

เช่นเดียวกับเนปาลและปากีสถานที่มีจำนวนนักการเมืองหญิงในสภาเข้าขั้นท็อปไฟว์

บังกลาเทศเองก็มีรัฐมนตรีหญิงหลายคน ส่วนอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศยังติดโผจำนวนสตรีนักการเมืองท้องถิ่น

แต่เพราะเหตุผลหลักๆ เป็นไปตามธรรมเนียมนิยม ส่งผลให้สมาชิกเพศหญิงในครอบครัวเลือกที่จะเดินตามเส้นทางสายงานการเมืองของผู้เป็นพ่อ หรือสามี และมีดีกรีเป็นแค่ตัวตายตัวแทน ไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะหญิงเก่งที่ลงเล่นการเมือง

ศ.แอทริด เอส. ตูมิเนซ จากโรงเรียนนโยบายสาธารณะลีกวนยูของสิงคโปร์ ผู้รวบรวมรายงาน กล่าวว่าแม้ผู้หญิงจะมีสถานะที่หลากหลายขึ้นในปัจจุบัน แต่ช่องว่างระหว่างรายได้ชายหญิงกลับเป็นประเด็นจุดชนวนชี้ให้เห็นความขัดแย้งของนโยบายสนับสนุนสิทธิสตรีและรูปธรรมจริง โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงทั่วโลกได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายมากถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งในเอเชียมีผู้หญิงกว่า 2 พันล้านคน ได้ค่าจ้างและเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายที่มีหน้าที่การงานใกล้เคียงกัน

ประเทศร่วมภูมิภาคซึ่งมีช่องว่างระหว่างรายได้ห่างกันมากที่สุด คือเกาหลีใต้ เนปาล บังกลาเทศ จีน และญี่ปุ่น

ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ มองโกเลียและไทย ติดอันดับประเทศที่มีความแตกต่างของรายได้น้อยที่สุด

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการยึดติดประเพณีเหยียดเพศของชนชาติในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว กลายเป็นสังคมเลือกปฏิบัติตั้งแต่เด็กยังไม่ทันเกิด เรื่อยไปจนถึงเข้าสู่วัยเรียน วัยทำงาน ส่งผลต่อปัญหาซ้ำซากของกรณีทำแท้งลูกสาว การทำร้ายผู้หญิง รวมถึงการกีดกันสิทธิสตรี

และด้วยอคติดังกล่าว เด็กผู้หญิงจึงเป็นชนชั้นสอง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการและการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กผู้ชายได้

ถึงอย่างนั้นเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้นำหญิงมากที่สุดในโลก และปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศถึง 4 คน ได้แก่ นางชีก ฮาสินา วาเจด นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ, นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, นางเจนนี ชิพลีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย 

แม้ธรรมเนียมการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จำนวนหญิงแกร่งแห่งเอเชียซึ่งพร้อมจะยืนแถวหน้าและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก มากกว่าก้มหัวยอมรับหน้าที่ซึ่งสังคมกำหนดไว้ให้ก็มีเพิ่มมากขึ้นจนน่าดีใจ

เหลือแค่คนรอบข้างให้โอกาส และไม่ตีค่า "คน" จากเปลือกนอกของความเป็น "หญิง"หรือ "ชาย"


ขอบคุณ: http://www.khaosod.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ