วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน "เนลสัน แมนเดลา"


   

เนลสัน แมนเดลา 
บำเหน็จเลอค่า สำหรับผู้รู้จักอดทนและรอคอย

              
โลกในยุคโลกาภิวัตน์ มนุษยชาติผิวสี กำลังก้าวย่างเข้าสู่ยุคทองของพวกเขาหลังจากที่อดทนและรอคอยมาอย่างยาวนานนับได้เป็นหลายศตวรรษ  ชนชั้นนำผิวสีมากมายต้องสังเวยชีวิตให้กับอคติที่มาจากการประเมินค่าแห่งความเป็นมนุษย์กันอย่างผิวเผินเพียงเพราะมองกันแค่ ผิวสี ที่เกิดจาก สีผิว อันเป็นเพียง เปลือกของความเป็นมนุษย์ ภายนอกอย่างตื้นเขิน แต่พลันที่บารัค ฮุสเซน  โอบามา ผู้ชายผิวสี จากรัฐอิลลินอยส์  ชายหนุ่มผู้มีบิดาเป็นชาวเคนยา มารดาเป็นอเมริกันผิวขาว ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แห่งอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกได้สำเร็จ  ก็ดูเหมือนว่า นับจากนาทีนี้เป็นต้นไป ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผิวสีจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
                  แต่ก่อนหน้าที่บารัค  โอบามา จะได้เสวยโอชารสของอิสรภาพและความเสมอภาคอันหอมหวานเช่นวันนี้  เส้นทางของเขาล้วนปูด้วยรอยเลือดและหยาดน้ำตาของชนผิวสีชั้นนำอย่างโรซาร์ พาร์คส, มาร์ติน  ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์,มหาตมะ  คานธี,อับราฮัม  ลินคอร์น (ปธน.ผู้ปลดปล่อยทาสผิวดำให้เป็นไท) จนเกิดเป็นกวีนิพนธ์ที่เกริกก้องทั่วไปในอเมริกาเวลานี้ว่า
                  เพราะโรซาร์ พาร์คนั่ง.มาร์ติน จึงได้เดิน,โอบามา จึงได้วิ่ง,และลูกหลานของอเมริกันจึงได้บิน
                  อย่างไรก็ตาม เส้นทางการต่อสู้ของชนผิวดำผู้ปรารถนาจะลิ้มรสเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างเสมอหน้ากับชนผิวขาวนั้น ไม่ได้มีอยู่แต่ในอเมริกาเท่านั้น แต่เมื่อว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและสมภาพเช่นนี้เกิดขึ้น กระจายอยู่ และดำเนินไปในทุกภูมิภาคของโลก และที่เข้มข้นยิ่งกว่าอเมริกาก็คือ แอฟริกาทั้งทวีป เพราะที่นั่นคือบ้านของคนผิวดำที่ถูกพวกยุโรปผิวขาวในยุคล่าอาณานิคมเข้าไปยึดครอง กดขี่ และเหยียดคนผิวดำลงเป็นมนุษย์ชั้นสอง ผู้ปราศจากสิทธิพลเมือง (Civil Right) หรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง คนผิวสีในแอฟริกาช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกกระทำจากพวกนักล่าอาณานิคมผิวขาวดังหนึ่งพวกเขาเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่บังเอิญมีสภาวะทางกายภาพเป็นมนุษย์เท่านั้น
                  และที่ทวีปแอฟริกาซึ่งมากด้วยคนผิวดำนี่เอง
                  ที่แอฟริกาซึ่งมากด้วยการเหยียดสีผิวนี่เอง
                  ที่แอฟริกาซึ่งมากด้วยการกดขี่นี่เอง
                  ที่ผู้ชายผิวสีคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา พร้อมกับที่ได้รับมรดกเป็นผิวสีที่มีการเหยียดหยาม  กดขี่  ย่ำยี ดูหมิ่นถิ่นแคลนมาเป็นของแถม และ
                  ที่แอฟริกานี่เอง ที่ผู้ชายผิวสีคนนั้น ได้เปลี่ยนอุปสรรคทั้งมวลให้กลายเป็นนั่งร้านแห่งการประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างงดงาม เลอค่า จนตัวเขาได้กลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกไปอย่างคาดไม่ถึง
                  ผู้ชายคนนั้นชื่อ เนลสัน  แมนเดลา
                  อดีตประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้  ผู้ที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี ประจำ ค.ศ. ๑๙๙๓ และ   ผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล   สาขาสันติภาพในปีเดียวกัน  และเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นทูตแห่งสันติภาพที่มีเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่ไม่ว่าในเวลานี้เขาจะย่างกรายไปเยือนประเทศใดในโลกนี้  รัฐบาลและประชาชนแห่งประเทศนั้น ล้วนยินดีต้อนรับเขาอย่างสมเกียรติ  เพราะเขาคือชายผู้มีเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมี  วันเกิดของเขาในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีประชาชนหลายประเทศจัดงานเฉลิมฉลองให้เขาเสมือนหนึ่งว่า เขาเป็นพลเมืองของประเทศนั้นเสียเอง
                  แต่ - -  กว่าจะมีวันชื่นคืนสุขเช่นทุกวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ชายผิวดำนามเนลสัน  แมนเดลา เคยมีชีวิตที่ทุกข์ตรมขมไหม้และต้องถูกจองจำอย่างยาวนานโดยไร้ความผิดในเรือนจำมากว่า ๒๗ ปีเต็ม จนเขากลายเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำนานที่สุดในโลก แต่เมื่อได้รับอิสรภาพแล้วเขาก็เป็นนักโทษทางการเมืองที่มีชื่อเสียงหอมฟุ้งมากที่สุดในโลกเช่นกัน 
                  ๒๗ ปี   ในเรือนจำของแมนเดลา  จึงเป็น ๒๗ ปีแห่งการอดทนและรอคอยอย่างยาวนานที่สุด  เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงอดทนและรอคอยได้ ทั้งยังเป็น ๒๗ ปีแห่งการบ่มบำเพ็ญบารมีทางความคิด และทางการเมืองที่เข้มข้น แหลมคมที่สุดเช่นเดียวกัน
                  ไม่น่าเชื่อว่า ๒๗ ปีที่อยู่ในคุก ความหวังและความฝันอันรุ่งโรจน์ของเขา ไม่เคยผุกร่อนหรือมอดไหม้
                  บนเส้นทางของการรอคอยอันยาวนาน ที่มีความอดทนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง มีความหวังเป็นจุดหมาย  ในที่สุดเนลสัน แมนเดลา กลับได้รับบำเหน็จรางวัลเลอค่าที่ตัวเขาเองก็คงไม่เคยคาดฝัน
                  เนลสัน  แมนเดลา  ต่อสู้มาอย่างไร นี่ย่อมเป็นเรื่องควรพิจารณาอย่างยิ่ง
เนลสัน แมนเดลา เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู  ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ เมื่อบิดาเสียชีวิตลง เขาจึงทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าแทนบิดา โดยมีลุงคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ และด้วยความที่เป็นลูกของชนชั้นนำประจำเผ่า เขาจึงได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุดกับครูที่เป็นมิชชันนารีชาวอังกฤษ การได้เรียนกับครูที่เป็นผู้ดีอังกฤษทำให้เขามีโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากคนในเผ่าอย่างยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เมื่อโตขึ้นเนลสัน แมนเดลา ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำชื่อฟอร์ต  แฮร์ คอลเลจ  ต่อมาแมนเดลา   ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประกอบอาชีพทนายความและศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิตวอร์เตอร์สแรนด์ หลังสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติแอฟริกัน  (African National Congress : ANC)    ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น  เป้าหมายของการทำงานทางการเมืองครั้งแรกก็เพราะ ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวดำให้มีสิทธิเสมอภาคเท่ากับคนผิวขาวในการเข้าถึงโอกาส และสิทธิพลเมืองในระดับเดียวกันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
                  เนลสัน แมนเดลา เป็นทั้งทนาย เป็นทั้งโฆษกขององค์กรที่เขาสังกัด และที่สำคัญเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่มี วาทศิลป์ อย่างยอดเยี่ยม (ควรสังเกตด้วยว่า วาทศิลป์ ล้วนเป็นองค์ประกอบของผู้นำแทบทุกคน) ต่อมาปี ค.ศ.๑๙๕๖   แมนเดลา   ก็ได้ลิ้มรสของชีวิตหลังลูกกรงด้วยข้อหากระทำการอันผิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พอถึงปี ๑๙๖๐ ประชาชนผิวดำถูกตำรวจกราดยิงเสียชีวิตถึง ๖๙ คน เหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญคนไปทั้งโลก  หลังถูกจับอยู่หลายปี แมนเดลา ก็ได้รับการปล่อยตัวเพราะไม่มีความผิด แต่ครั้นถึงปี ๑๙๖๒ ก็ถูกจับอีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยข้อหายุยงให้มีการสไตรก์และเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง
                  ค.ศ.๑๙๖๓ แมนเดลา ถูกหวยรางวัลใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลแห่งชาติแอฟริกาใต้ค้นพบเอกสารบางชิ้นว่า สภาแอฟริกันแห่งชาติที่เขาสังกัดมีการวางแผนเป็นกบฏต่อต้านอำนาจรัฐด้วยอาวุธสงคราม คราวนี้เขาและผองเพื่อนจึงถูกตีตรวนยาวกลายเป็นนักโทษทางการเมือง ตลอดชีวิต
                  อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะถูกจำขังอยู่ในคุก แต่สำหรับปัญญาชนอย่างเขานั้น คุกขังได้ก็แต่กาย ส่วนจิตวิญญาณและปัญญานั้นยังคงเรืองแสงเจิดจรัสตลอดเวลา ในเรือนจำของนักโทษการเมืองนั้นเนลสัน และผองเพื่อนยังคงแบ่งกลุ่มกันศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  ว่ากันว่า การได้อ่านหนังสือพิมพ์จากโลกภายนอกสักฉบับหนึ่งมีค่ายิ่งกว่าอาหารหลายมื้อ เพราะพวกเขาต้องลักลอบติดตามความเป็นไปของโลกภายนอกอย่างมิดชิดและเงียบเชียบที่สุด ผลของการ ลาศึกษาต่อ ในคุก ทำให้เนลสันได้ข้อค้นพบอย่างหนึ่งซึ่งเป็นดังหนึ่งปลายทางของงานวิจัยชั้นยอดว่า
                  ...กล่าวกันว่า ไม่มีใครจะรู้จักประเทศหนึ่งได้อย่างแท้จริง จนกว่าเขาจะได้เข้าไปอยู่ในคุกของประเทศนั้น เราไม่ควรวัดประเทศจากวิธีการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นสูง หากควรดูจากวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อพลเมืองที่อยู่ในสถานะต่ำต้อยที่สุด และ (ในทัศะของข้าพเจ้า- - รัฐบาลของ) สหภาพแอฟริกาปฏิบัติต่อพลเมืองแอฟริกันเหมือนกับปฏิบัติต่อสัตว์
              ประโยคสุดท้ายที่ว่า - - รัฐบาลของสหภาพแอฟริกาปฏิบัติต่อพลเมืองแอฟริกันเหมือนกับปฏิบัติต่อสัตว์ คงชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมเนลสัน แมนเดลา จึงต้องลุกขึ้นสู้  เป็นการลุกขึ้นสู้เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งมหาตมะ  คานธี ซึ่งเคยถูกไล่ลงจากรถไฟที่แอฟริกาใต้เคยลุกขึ้นสู้มาแล้วนั่นเอง
                  ตลอดเวลาที่แมนเดลา  ถูกจองจำนั้น สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาคระหว่างคนผิวดำยังคงไหลเอื่อยไม่ขาดสาย  ระหว่างทศวรรษ ๑๙๘๐  มีประชาชนผิวดำบาดเจ็บล้มตายกว่า ๖๐๐ คน   แม้ตัวเขาและพวกพ้องไม่สามารถสู้ต่ออย่างเปิดเผยในโลกภายนอกร่วมกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ    แต่ทว่าในโลกแห่งความคิดนั้น เขายังคงต่อ ท่อน้ำเลี้ยงทางความคิด ถึงคนหนุ่มคนสาวอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่คนหนุ่มสาวถูกรัฐบาลล้อมปราบ จับกุมคุมขังอย่างทารุณ และตลอดเวลาดังกล่าวนั้น เนลสัน แมนเดลา  และนานาชาติรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นที่แอฟริกาใต้ รัฐบาลของสหภาพแอฟริกาใต้จึงถูกกดดันจากนานาชาติอยู่เนืองๆ ให้ยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิว และพยายามเจรจาต่อรองกับกลุ่มของแมนเดลา แต่เสียงตอบกลับออกมาจากปัญญาชนในคุกก็คือ
                  ผมไม่อาจ และจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ในยามที่ผม, พวกคุณ และประชาชนทั้งหลายยังไม่เป็นอิสระ เสรีภาพของพวกคุณและเสรีภาพของพวกผม ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้
                  การต่อสู้ของประชาชน คนหนุ่มสาว การบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธิ์หลายครั้ง ผนวกกับการกดดันจากนานาชาติทำให้รัฐบาลแห่งสหภาพแอฟริกาใต้ ไม่อาจต้านทานกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป ในที่สุด ค.ศ.๑๙๙๐ เนลสัน  แมนเดลา ก็ได้รับเทียบเชิญให้ไปเจรจากับเฟรเดอริ ดับเบิลยู เดอ คลาร์ก  ประธานาธิบดีแห่งสหภาพแอฟริกาใต้เพื่อแสวงหาทางออกในการที่จะทำให้แอฟริกาใต้มีประชาธิปไตยเต็มใบ นโยบายแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิก ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงเหมือนนานาอารยประเทศทั้งหลาย ผลของการเจรจาทำให้พรรคแอฟริกันแห่งชาติ (ANC) ซึ่งเคยถูกรัฐตราหน้าว่าเป็นพรรคผิดกฎหมายได้รับการรับรอง และเนลสัน  แมนเดลา  ได้รับอิสรภาพหลังจากรอคอยอย่างยาวนานมาถึง ๒๗ ปีเศษ
                  ปีที่ได้รับอิสรภาพเนลสัน  แมนเดลา   อายุสังขารล่วงมากว่า ๗๑ ปีแล้ว  แต่เป็น ๗๑ ปีที่ไฟในหัวใจยังคงคุโชน กระชุ่มกระชวย และเปี่ยมไปด้วยความหวังถึงรุ่นอรุณแห่งเสรีภาพ  พลังแห่งความหวังในตัวเขาและความหอมหวานแห่งเสรีภาพและเสมอภาพ ทำให้เขายังคงแข็งแกร่ง สุขภาพดี ดวงตาทอประกาย สติปัญญาแหลมคมเพราะถูกบ่มมาอย่างยาวนานจนสุกปลั่ง เขา- - ผู้ชายสูงอายุที่ถูกพันธนาการมากว่าครึ่งชีวิต พลันที่ได้รับอิสรภาพก็ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของประชาชนอย่างชนิดที่ไม่มีใครสงสัยในภาวะผู้นำแม้แต่น้อย  อย่างไรก็ตาม หลังได้รับอิสรภาพสงครามระหว่างผิวยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น การบาดเจ็บล้มตายระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวยังมีอยู่ทั่วไป แต่เนลสัน แมนเดลา  ในฐานะผู้นำของพรรคแอฟริกันแห่งชาติ (African National Congress : ANC)  และเฟรเดอริค ดับเบิลยู เดอ  คลาร์ก ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ (NATIONAL PARTY) ได้จับมือกันเจรจาสันติภาพ เพื่อหาวิธีสร้างประชาธิปไตยของคนผิวสีร่วมกันและยุติความรุนแรงทั้งปวงด้วยสันติวิธี
                  แล้วบำเหน็จสำหรับนักสู้ผู้เรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอยก็เดินทางมาถึง นั่นคือ ในปลายปี ๑๙๙๓ เนลสัน  แมนเดลา และเดอ คลาร์ก   ได้รับการประกาศให้เป็นผู้คู่ควรแก่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งโลก    ลุถึงปี ๑๙๙๔ ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส การเมืองใหม่ที่คนผิวดำ คนผิวขาวมีสิทธิเสมอภาคทัดเทียมกันก็เกิดขึ้น  เมื่อเนลสัน  แมนเดลา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้อย่างยาวนานและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนถึงจุดอิ่มตัว
                  ปี ๑๙๙๙ เนลสัน แมนเดลา ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และอุทิศตนให้กับงานการกุศลระดับโลก ทุกวันนี้  แม้เขาไม่ได้นั่งอยู่ในเก้าอี้แห่งอำนาจในทำเนียบประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้อีกต่อไปแล้ว   แต่เขาได้ยกตัวเองให้สูงขึ้นไปยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การเป็นคนของโลกผู้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของใครต่อใครมากมายทั่วโลก ในฐานะทูตสันติภาพโลกและผู้บริหารกองทุนเนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็กและเยาวชน

เนลสัน แมนเดลา : บำเหน็จเลอค่า สำหรับผู้รู้จักอดทนและรอคอย
ที่มา : ธรรมมะประจำวัน (ท่าน ว.วชิรเมธี)

                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ