วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ศึกชิงบัลลังก์พญาอินทรี โอบามา vs รอมนีย์


กล้สู่โค้งสุดท้ายของศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้นำที่ทรงอิทธิพลต่อโลก

สำหรับภูมิภาคอาเซียน เป็นเขตยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันของนายบารัก โอบามา เบนเข็มมาให้ความสำคัญมากขึ้น ในพื้นที่รวมของเอเชีย-แปซิฟิก แข่งขันกับมหาอำนาจจีน

แต่หากมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน พลิกคว้าชัยชนะจะเกิดการเปลี่ยน แปลงยุทธศาสตร์หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประเด็นว่า แม้สหรัฐจะเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจ การปกครอง รวมถึงสังคม และวัฒนธรรมในระดับโลก แต่ไม่ถึงกับมีอิทธิพลมากนักต่ออาเซียน เพราะอยู่ไกล ไม่เหมือนยุโรปหรือตะวันออก กลางที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในหลายๆ ด้าน

ถึงอย่างนั้นนโยบายต่างประ เทศที่โอบามาวางไว้ เรื่องการขยายความสัมพันธ์ กับเอเชียและอาเซียน ก็ดูจะส่งเสริมให้ภูมิภาคเรามีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะแลกเปลี่ยนกัน

ขณะที่นโยบายของนายรอมนีย์ ซึ่งเน้นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ หากมองผิวเผินดูจะไม่เกี่ยวกับอาเซียน แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่าความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจ ต่างมีรากฐานอยู่บนความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะชนะ สิ่งสำคัญสำหรับอเมริกาตอนนี้ คือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้เสียก่อน จุดนี้อาเซียนอาจเข้าไปมีบทบาทได้ เพราะปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง 




สหรัฐซึ่งขาดทรัพยากรหรือต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่ไม่อยากลงทุนในจีน จะมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ในแง่การค้าระหว่างสหรัฐและอาเซียนแนบแน่นขึ้น

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร ผู้เชี่ยวชาญสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากประธานาธิบดีโอบามาได้รับเลือกตั้งอีกสมัย เชื่อว่า นโยบายต่างๆ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากเพราะโอบามารู้แล้วว่าสหรัฐไม่ได้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว

ต่างจากช่วงรับ ตำแหน่งใหม่ๆ โอบามาสัญญาไว้ว่าจะเปลี่ยนโน่นปรับนี่ จะปิดคุกกวนตานาโมในคิวบา จะรีบถอนทหารจากอัฟกา นิสถาน จะทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ความคิดเหล่านี้เป็นเพียงอุดมคติ แต่เมื่อลงมือทำจริงก็ทำได้เพียงครึ่งเดียว

ถึงอย่างนั้นสิ่งหนึ่งซึ่งโอบามาทำนอกกรอบนโยบายที่วางไว้ คือการขยายความสนใจมายังเอเชีย-แปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะขณะที่สหรัฐมีปัญหาเศรษฐกิจ โอบามารู้แล้วว่าจะยืนหยัดสู้เพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเอเชีย

แม้สหรัฐจะต้องเผชิญหน้ากับอิทธิพลและบท บาทของจีน แต่ก็มองว่าคุ้มค่าน่าเสี่ยงลงทุน

ทางด้านรอมนีย์จะเป็นผู้นำแบบอนุรักษนิยมตามแนวทางของพรรค รีพับลิกันที่เน้นความเด็ดขาดและอำนาจทหาร ที่สำคัญเขาเป็นนักธุรกิจก็จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะกระตุ้นการลงทุน ส่งเสริมนโยบายเอื้อบริษัทใหญ่ รวมทั้งมาตรการคานอำนาจกับจีน

รอมนีย์คิดว่าจีนทำให้สหรัฐเสียดุลการค้า แต่ไม่เคยโทษระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้คนรวย ซ้ำยังเชื่อว่าจีนปั่นค่าเงินแกล้งสหรัฐ แต่ไม่วิเคราะห์ว่าบริษัทสหรัฐต่างหากที่เข้าไปลงทุนในจีน ไปสร้างรายได้ตั้งเท่าไหร่ จีนเป็นแค่ฐานผลิต และมีรายได้น้อยนิดจากกำไรที่สหรัฐทำได้

"การเชื่อโดยอคติ ทำให้เห็นได้ว่ารอมนีย์ต่างจากโอบามาอย่างสิ้นเชิงและถ้ารอมนีย์ได้เป็นผู้นำจริงๆ ก็คงจะวุ่นวายน่าดู"
ด้าน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันที่ 6 พ.ย. จะออกมาอย่างไร นโยบายที่ผู้นำสหรัฐควรเร่งวางรากฐาน คือมาตรการต่อเอเชีย ทั้งประเด็นความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี กรณีพิพาทร่วมในทะเลจีนใต้ รวมถึงการขยายกรอบความร่วมมือกับอาเซียน 

แม้สหรัฐจะอยู่ห่างไกล แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าทุกความเคลื่อนไหวของเอเชียต้องมีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ในอนาคตเราจะได้เห็นการแข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าผลกระทบจะขยายมายังอาเซียนด้วย ในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อท่าทีของชาติสมาชิก ซึ่งมีทั้งพันธมิตรสหรัฐอย่างฟิลิปปินส์และประเทศซึ่งอิงจีน ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ 

แต่สหรัฐที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวและจีนจะเปลี่ยนแปลงระดับสูงในเร็วๆ นี้ พอจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า หากอาเซียนเหนียวแน่นและนึกถึงประโยชน์ของประชาคมเป็นหลัก บทบาทของมหาอำนาจก็ไม่มากพอที่จะทำให้แตกแยกได้ 

"ข้อสังเกตก็คือ การที่ประธานาธิบดี โอบามาประกาศจะร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ในวันที่ 15-20 พ.ย. ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชาด้วย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาคได้เป็นอย่างดี"



ขอบคุณ : ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ