วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"สุขุม-เสน่ห์" เผยเหตุผลที่แท้จริง ทำไม?คนไทย "ขี้โกง"




วันที่ 16 พ.ย. ในงานวันคล้ายสถาปนาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเสนาในหัวข้อ "โกงไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้ประโยชน์ สังคมไทยรับได้หรือ" รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า คนดีทำงานได้ไม่ถึงใจหรือมีผลงานที่ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าได้ประโยชน์ พอมีคนเก่งเข้ามาทำให้เขาได้ประโยชน์ เขาก็หลงไหลหรือศรัทธาคนเก่ง ต่อมาคนเก่งถูกกล่าวหาว่าโกง เขาก็เลยบอกว่าโกงก็รับได้ ขอให้เขาได้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นที่ชัดเจนว่า คนมองประโยชน์ของตนเป็นหลัก ในขณะที่คนโกงบางครั้งก็บอกว่าใครๆ ก็โกง เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ถ้าเชื่อกันแบบนี้มากๆ ก็จะกลายเป็นการทุจริตคอรัปชั่นอย่างไม่มีสิ้นสุด

"ผมต้องการความรวดเร็ว กรรมต้องเห็นทันตาคนถึงจะเห็นเป็นตัวอย่าง หรือทำให้เห็นว่าต้องทำความดี เพราะทำความชั่วแล้วจะติดตามตัวเรา ซึ่งจะทำให้คนกลัวการกระทำของตัวเอง และต้องสอนตั้งแต่เด็ก เด็กนี่แหละที่จะเติบโตขึ้นมา เพราะเด็กมีอิทธิพลต่อพ่อแม่สูงมาก อย่างผมเองยอมรับเลยว่าส่วนหนึ่งที่คิดอยู่ตลอดเวลาคือลูกจะขายหน้าเราหรือไม่ถ้าเราโกง" รศ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของเอแบคโพลและสวนดุสิตโพล เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยรับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตกใจ โดยยกตัวอย่างนักการเมือง เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่สามารถบริหารบ้านเมืองโดยไม่ทุจริต จนพาประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตได้ พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสงเกตุว่า การเมืองสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เหมือนใคร เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ใช้นโยบายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนรักและศรัทธา พอถูกจับได้ว่าทุจริต ประชาชนจึงมองว่าเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะคนไทยคลั่งไค้ลฮีโร่ ฉะนั้น เมื่อฮีโร่ทำผิดจึงคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ นักพูดและคอลัมนิสต์ มองว่า เรื่องโกงเป็นเรื่องที่พูดง่าย หากมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราคือ การได้ประโยชน์จากการโกง ซึ่งสิ่งนี้มีความชัดเจน เช่น เรามีความรู้สึกว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของเรา จะร้อนก็ร้อนไป ใครจะไปต่อต้านภาวะเรือนกระจกไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องของเรา แต่วันนี้ภาวะโลกร้อนได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนโดยถ้วนหน้า การทุจริตคอรัปชั่นถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวในความของคนหลายคนในวันนี้ แต่วันหนึ่งการโกงนั้นก็จะกลับเข้ามาเป็นเหมือนภาวะโลกร้อน เข้ามารุมเร้า ท้ายที่สุดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดขึ้นมากมายความย่อยยับ ความหายนะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารู้แล้วต้องเร่งรณรงค์ทำให้ได้ เพราะบางเรื่องเราคิดว่าทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราทำได้ ต้องทำให้เรื่องทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทุกคนต้องสู้ ไม่ใช่สู้บางคน หรือว่าทำเฉพาะที่เป็นผลประโยชน์ของเรา

อ.เสน่ห์ ยังกล่าวอีกว่า พอเห็นค่านิยมของคนที่ยอมรับว่าโกงแล้วได้ประโยชน์นั้น ตนรับไม่ได้เด็ดขาด ถ้าคนเดินบนท้องถนนเป็นร้อย ถามว่าคนไหนไม่โกงบ้างคงไม่มี ปัจจุบันหลายอย่างมีการอำนวยความสะดวก เด็กเจอเรื่องทุจริตตั้งแต่เข้าเรียน เจอทุกหย่อมหญ้าจนกลายเป็นค่านิยม อีกหน่อยต้องมีป.ป.ช. ระดับอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อปราบคนโกง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้

ทั้งนี้ เราควรพูดเรื่องจิตสำนึก คุณธรรม คือสังคมเราชอบให้อภัย มีจิตใจเอื้อเฟื้อ สังคมชอบผลักดันคนให้เป็นคนดีโดยปริยาย โดยเฉพาะคนสาธาระ ซึ่งคนเหล่านี้ ต้องเป็นตัวอย่าง สังคมต้องผลักดันคุณธรรมด้วย แต่ที่ผ่านมาชอบมีการอ้างว่าคนที่ทำประโยชน์ โกงไม่เป็นไร หรือที่ชาวบ้านมองว่า "โกงไม่เป็นไร ขอให้เล่าข่าวเก่ง"

สิ่งที่น่ากลัวคือคำว่าโกง ทุจริต ไม่มีอะไรจับต้องได้ ซึ่งต่างจากการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา พอเราไม่ถูกใจก็จะหาว่ากรรมการโกง แต่การทุจริตวันนี้ สังคมที่มีการโกงกันเราไม่รู้ เราไม่เห็น ลึกลับ รู้แต่รู้ไม่หมด เพราะไม่มีการนำเสนอ ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ที่บอกว่าชอบโกง แต่เขาก็เอาชนะโดยการไม่โกงคืน เขาสามารถเปลี่ยนคนให้เอาชนะโดยการไม่โกงได้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องหลัก เพราะมีหน้าที่หนักไปด้านการปราบปราม และได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่า โดยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ขณะเดียวกันการทุจริตคอรัปชั่นก็ยังมีมากเรื่อยๆ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญในแผน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.งานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ด้านวินัยต่างๆ 2.การสร้างพลังเครือข่ายต่างๆ ในการป้องกัน การประสานทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเข้ามาเป็นพลังในการขับเคลื่อน 3.เครื่องมือในการทำงาน หรือกฎหมายมาช่วยในการทำงาน ซึ่งป.ป.ช. มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกัน เช่น กฎหมายคุ้มครองพยาน กฎหมายอายุความเพื่อสะสางงานที่คงค้าง โดยต้องทำความเข้าใจ อีกฉบับหนึ่งคือ การให้มีป.ป.ช.จังหวัด โดยจะให้มีครบในทุกจังหวัดในเดือนเม.ย. ปี 2556 และ 4.การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลากร เพราะการทำงานมีความสลับซับซ้อน ยิ่งมีการทุจริตเชิงนโยบาย มีการบิดเบือนเพื่อหาผลประโยชน์ ก็ยิ่งต้องมีมาตราการเพิ่ม จึงมีสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริจสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรขึ้นมา

สุดท้ายต้องมีการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง หรือมีการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการทุจริตว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมต้องไม่ยอมรับเรื่องนี้ มากกว่านั้น ต้องยกย่องคนดีให้ปรากฎ และต้องให้ความสำคัญกับบุคคลเป้าหมาย นั่นก็คือเยาวชน ดึงเยาวชนให้กลับมาร่วมทำงาน ตลอดจนการดึงเข้ามาเป็นเครือข่าย ส่วนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้น ควรมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับการให้ภาครัฐมีส่วนช่วยในการผลักดัน

การทุจริตบ้านเราเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ไม่ต่างจากปัญหายาเสพติด จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก ยิ่งการเปิดเวที การเปิดประชาคมอาเซียน ต้องมีการปรับภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน หลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือในการทำงาน เพราะการต่อต้านทุจริตเป็นหน้าที่ของคนทั่วประเทศ

ขอบคุณที่มา : มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ