วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ทุบสถิติผู้นำหญิงคนแรกของโลก





นายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลก!
ใประเด็นซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากเรื่องหนึ่งคือ การที่สังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นครั้งแรก โดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และขณะนี้ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับที่มีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีภาพลักษณ์ที่ดี และเท่าที่ผ่านมา การแถลงข่าว การหาเสียง และการดำเนินการอื่นๆก็ยังไม่มีอะไรติดลบ 
อันที่จริงในต่างประเทศ การมีสตรีเป็นผู้นำประเทศเป็นเรื่องปรกติ เช่น ในประเทศศรีลังกา สิริมาโว บันดาราไนยเก ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2503 และอยู่ในตำแหน่งสมัยแรกประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 2 สมัย และเป็นผู้นำพรรคเสรีภาพของศรีลังกาอย่างยาวนาน
ต่อมาประเทศอื่นๆก็มีผู้นำสตรีที่มีความสามารถโดดเด่น เช่น นางอินทิรา คานธี ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียสมัยแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2509 และได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอินเดียยาวนานที่สุด ถือเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน
โกลดา แมร์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 และอยู่ในตำแหน่งถึง พ.ศ. 2517 ได้ชื่อว่าเป็นสตรีเหล็กของอิสราเอล และได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำสำคัญของอิสราเอลเช่นกัน
มาร์กาเร็ต แธทเชอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนเดียวในประวัติศาสตร์อังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2522 และอยู่ในตำแหน่งถึง 12 ปี ได้ฉายาว่าเป็นสตรีเหล็กของอังกฤษ และนำประเทศชนะสงครามกับอาร์เจนตินาในกรณีฟอล์กแลนด์ใน พ.ศ. 2525
ยูจีเนีย ชาลส์ เป็นสตรีที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศโดมินิกา ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน เธอรับตำแหน่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 และอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องกันนานถึง 15 ปี จนสิ้นวาระใน พ.ศ. 2538
โกร ฮาร์เล็ม บรันตแลนด์ เป็นแพทย์หญิงที่เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยนอร์เวย์ และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 โดยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย
คอราซอน อาคีโน รับตำแหน่งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 หลังจากการปฏิวัติโค่นระบอบประธานาธิบดีมาร์กอส เธออยู่ในตำแหน่ง 6 ปี และนำประเทศผ่านวิกฤตจากความพยายามในการทำรัฐประหารของทหารหลายครั้ง
เบนาซีร์ ภุตโต หัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านเผด็จการทหาร เธอได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 และอีกสมัยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 เธอถูกสังหารในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ขณะกำลังรณรงค์เลือกตั้งเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3
วีโอเล็ตตา ชาร์มอโร ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของนิการากัวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 และอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี เธอเป็นผู้นำคนแรกหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์นิการากัว และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศของทวีปอเมริกาเหนือและใต้
คาลิดา เซีย ผู้นำพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 หลังการล่มสลายของเผด็จการ เธออยู่ในวาระแรก 5 ปี และแพ้เลือกตั้งแก่ฮาสินา วาเซ็ด สตรีอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคสันนิบาตอาวะมี ทำให้การเมืองของบังกลาเทศกลายเป็นการแข่งขันของผู้นำสตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ฮาสินา วาเซ็ด แพ้เลือกตั้ง ทำให้คาลิดา เซีย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และอยู่ในตำแหน่งอีก 5 ปี ต่อมาใน พ.ศ. 2551 ฮาสินา วาเซ็ด กลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน
จันดริกา กุมารตุงกา เป็นธิดาของสิริมาโว บันดาราไนยเก รับตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 และอยู่ในตำแหน่งถึง 9 ปี
เจนนี ชิพเลย์ หัวหน้าพรรคชาตินิยมนิวซีแลนด์ เป็นสตรีคนแรกที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 เธออยู่ในตำแหน่ง 2 ปี และเสียตำแหน่งให้แก่สตรีอีกคนหนึ่งคือ เฮเลน คลาร์ค หัวหน้าพรรคแรงงาน เมื่อ พ.ศ. 2542 ต่อมาเฮเลน คลาร์ค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 3 วาระต่อเนื่องกันเป็นเวลา 9 ปี
มิเรายา โมสโคโซ หัวหน้าพรรคอาร์นัลฟิสตา ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของปานามาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2542 และอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี
กลอเรีย อาร์โรโย เป็นรองประธานาธิบดีก่อนได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 และดำรงตำแหน่งนานเกือบ 10 ปี
เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินโดนีเซียเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 และอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีสตรีเคยขึ้นเป็นผู้นำประเทศราว 66 คน ในจำนวนนี้ยังคงเป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งถึง 14 ประเทศ นอกเหนือบังกลาเทศที่ฮาสินา วาเซ็ด ดำรงตำแหน่งแล้ว ที่สำคัญคือ แองเจลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นานเดซ แห่งอาร์เจนตินา รับตำแหน่งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ประธานาธิบดีลอรา ซินชิลลา แห่งคอสตาริกา รับตำแหน่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 นายกรัฐมนตรีมารี คิวีเนียมี แห่งฟินแลนด์ รับตำแหน่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด หัวหน้าพรรคกรรมกรออสเตรเลีย รับตำแหน่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 เช่นกัน
ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟ แห่งบราซิล เพิ่งจะรับตำแหน่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 นี้เอง จากนั้นนายกรัฐมนตรีโรซาริโอ แฟร์นานเดส แห่งเปรู เพิ่งรับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดคือ นายกรัฐมนตรีมาเรียม ซิดิเบ แห่งประเทศมาลี เพิ่งจะรับตำแหน่งในเดือนเมษายนนี้ สำหรับประเทศอื่นที่มีผู้นำสตรีในตำแหน่งขณะนี้ก็คือ ไอซ์แลนด์ โครเอเชีย ไลบีเรีย ตรินิแดดและโตเบโก และสโลวาเกีย
กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศการมีผู้นำเป็นสตรีเป็นเรื่องปรกติธรรมดา เพราะเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับในสังคมโลก ชายและหญิงไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดในเรื่องความเป็นมนุษย์ ยุคสมัยแห่งการกีดกันบทบาทสตรีควรจะหมดสิ้นไปแล้ว การมีผู้นำสตรีในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีในวาระนี้ จะกลายเป็นผู้นำสตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ ขอบคุณคะ